ท่านที่ให้ทัศนะความเห็น เป็นจดหมายแก่หลวงพ่อนิพนธ์ อีกประการหนึ่ง หลังจากที่ได้พูดเรื่องการขายอาหารและน้ำ นั่นคือ ความรู้สึกที่สัมผัสขณะเข้าห้องสวดมนต์
เขาบรรยายสองประเด็น ประเด็นแรกคือ ในห้องนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ใส่แว่นคนหนึ่ง เขาสงสัยว่าทำไมทุกคนต้องทำตามคนๆ นั้น
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นผู้มีประสพการณ์ และอยู่รับใช้หลวงพ่อนิพนธ์มายาวนานพอสมควร จึงพอจะมีความเข้าใจ และเห็นแนวทางว่า แนวทางใดที่ทำแล้วเกิดผล แนวทางใดที่ทำแล้วไม่บังเกิดผล เสียเวลาเปล่า ทั้งผู้ให้และผู้รับ
เขาจึงมีหน้าที่เสมือนประภาคารในท้องทะเล ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมใดที่สอดคล้อง และเมื่อทำแล้วจะทำให้เรือของผู้นั้น แล่นไปถึงฝั่ง พฤติกรรมใด ที่กำลังออกนอกแนวทาง และเมื่อทำแล้วยากจะถึงฝั่งหรือไม่มีทางถึงฝั่ง นั่นเอง
หากแต่การจะไปตามแสงแห่งประภาคารนั้นหรือไม่ ก็ขึ้นกับเจ้าของเรือเป็นผู้ตัดสินใจในการกระทำ
สิ่งที่บอกกล่าวจึงไม่อยากให้เสียเวลา สำหรับผู้อยากช่วยตน ก็จะได้เดินแนวทางตรงตามคำสอน ช่วยตนได้เร็ววัน คนเก่าไป คนใหม่จะได้มาแทนที่ ไม่ใช่เก่าก็ยังอยู่ ใหม่ก็มา สำหรับคนที่ไม่มีเจตนาที่จะทำตาม ไม่อยากทำ หรือไม่ชอบที่จะทำ ก็จะได้เปลี่ยนไปหาสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องมาเสียเวลากับที่นี่ เพราะเมื่อไม่ทำตามคนที่ท่านมาขอให้ช่วย ผลสุดท้ายก็ย่อมเห็นเด่นชัด ไม่ชอบ ก็ไม่ว่า กล่าวกันตรงๆ เพราะไม่มีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
นั่นจึงเป็นเหตุและผลที่ว่า คนทุกคนที่หวังผลจึงทำตามคำของคนใส่แว่นนั้น ก็เพราะเขาเป็นคนคอยเตือนให้เดินอยู่ในร่องของคำสอนที่หลวงพ่อนิพนธ์สอนนั่นเอง
และอีกประเด็นคือ ความรู้สึกเหมือน ติดคุก ขณะที่อยู่ในห้องสวดมนต์
ก็ไม่ผิด สิ่งนี้แหละเรียกว่าเป็นทุกข์ หากแต่ทุกข์ที่เกิดหลวงพ่อนิพนธ์กล่าวว่า เกิดเพราะวินัย หาใช่นิสัยไม่ ทุกข์นี้จึงทำให้เกิดบุญ เพราะต้องหักห้ามนิสัย อยากคุยไม่ได้คุย อยากไปโน่น ไปนี่ ก็ไม่ได้ไป
การมาทำตนให้ทุกข์ตามวินัย อุปมาเหมือนคนบ้า อยู่ดีๆ ทำให้ตนทุกข์ แต่สิ่งนี้แหละทำให้เรานำไปใช้กรรมใช้เวร
หลวงพ่อนิพนธ์จึงยกตัวอย่าง ในสมัยปี ๓๐ เพื่อประกาศให้เห็นบุญญาธิการของพระธรรมวินัย จึงรับพระที่หมอไม่รับมาบวชประมาณ ๓๐ รูป บางท่านหมอบอกอยู่ไม่เกินสามเดือน
พระทุกรูปแม้จะมีสภาพที่ร่อแร่ปางตาย แต่หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวว่า ถ้าท่านเชื่อผมและสามารถทำตามวินัยทุกข์ของพระภูมีได้ ท่านจะได้สัมผัสบุญของพระภูมี และรอดชีวิตได้
วินัยฉันมื้อเดียวก็หนักพอ หากแต่วินัยที่หนักกว่าคือเดินธุดงค์ ในปีนั้น เดินประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร เดินไปพร้อมแบกกลด บาตร ย่าม ทั้งที่ตัวเองก็แทบจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว
พระบางองค์ป่วยเป็นโปลิโอ ลำพังเดินตัวเปล่าก็แย่แล้ว แต่ทั้งหมดทุกองค์ก็ทำตาม
ขณะเดินธุดงค์ มีหลายครั้งที่มีพระที่โดยสารรถมา แล้วเห็นพระกลุ่มนี้เดินด้วยความลำบาก จึงนิมนต์ให้ขึ้นรถ ก็ได้รับคำตอบว่า อาตมาถือวินัย ของพระภูมี ไม่ขึ้นรถลงเรือ ด้วยพิสูจน์หลัก "ตนพึ่งตน" นั่นเอง
รถพระเหล่านั้นออกตัวไป พร้อมคำตะโกนว่า อ้ายพระพวกนี้มันบ้า
แต่พระกลุ่มนี้ทุกองค์ล้วนแล้วแต่เดินกลับสำนักสงฆ์ได้ครบถ้วน พร้อมกับสุขภาพที่แข็งแกร่ง และยังอยู่มาจนทุกวันนี้
ดูอย่างท่านทวี ที่เป็นโปลิโอตั้งแต่เกิด ก็กลับมามีกล้ามเนื้อน่อง และเกือบเหมือนคนปกติทั่วไป
ดังนั้น สิ่งที่ทำอยู่ หลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวว่า คือทำตนให้ทุกข์ แต่ทุกข์นี้เกิดจากธรรมวินัยของพระภูมี ดีกว่าต้องทนทุกข์จากโรคภัย
จึงไม่แปลกที่ทุกคนจะคิดว่า ทุกข์ฉิบหาย เบื่อฉิบหาย เมื่อทำการสวดมนต์ หากแต่เมื่อเรียนรู้ เราจะสุข เพราะทุกข์อันนี้ มันเกาะกินแค่ชั่วครู่ชั่วยาม หากแต่ทุกข์ที่เกิดจากโรคมันเกาะกินตลอดเวลา
การกระทำตามคำสอนแม่ชีเมี้ยนที่หลวงพ่อนิพนธ์นำมานั้น จึงอุปมา ทำตนเหมือนคนบ้า ดั่งพระภูมี ทิ้งวัง ทิ้งราชรถ มาเดิน มาลำบาก จนได้มรรคผล เป็นบุญ
ก็ด้วยธรรมวินัยทำให้ตนทุกข์นี้เอง จึงทำให้คนปฏิเสธ และกล่าวว่า ธรรมของพระภูมี "ดีแต่ทำไม่ได้" คนที่เดินตามจึงมีน้อย
ก็นี่ขนาดที่แม่ของเขาเดินไม่ได้ เพราะทนทุกข์อันนี้ จึงกลับมาเดินได้ เขายังอยากปฏิเสธไม่รับทุกข์อันนี้เลย
จึงไม่น่าแปลก ว่าทำไมยุคนี้ไปที่ไหนก็เห็นแต่ "พระเจ้าทันใจ" ขออะไรได้หมด และโน่นก็ศักดิ์สิทธิ์นี่ก็ศักดิ์สิทธิ์ขอได้ ให้ทุกอย่าง แลคนแห่แหนกันไป
แม่ชีเมี้ยนจึงมักกล่าวว่า ศาสนาจริงๆ ไม่เป็นเช่นนั้นหรอก และสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือความจริงของมนุษย์ และตรัสสอนเป็นธรรมหมวดแรก จึงเป็น ธรรมหมวด "ตนพึ่งตน"
จะร้องเร่ไปในทิศทางใด ก็ไม่มีใครช่วยได้ ไอ้ที่อวดเก่งว่าช่วยได้ ลงท้ายตัวเองก็ไม่รอด ดังคำ "หมองูตายเพราะงู" นั่นเอง
พระพุทธเจ้าอยากช่วยสักฉันใด ก็ยังต้องอุเบกขาเลย เพราะเขาเอาคนทำได้ ... ใครทำใครได้ .... นั่นเอง