อีกด้านหนึ่งที่น่าจะไม่ค่อยมีคนรู้ นั่นคือ การเตรียมการณ์ในอนาคตของหลวงพ่อนิพนธ์
หลังจากการทดลองนำคนไข้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ มาทานสมุนไพรสูตรที่แม่ชีเมี้ยนได้ตรัสว่า ท่านจดไปเถอะ แม้นโรคนี้ยังไม่เกิดในปัจจุบัน แต่อนาคตอีก ๓๐ ปี ข้างหน้า โรคนี้จะบังเกิดขึ้น
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการฟื้นฟูคนไข้เหล่านี้ นั่นคือ สภาพแวดล้อม อันได้แก่ธรรมชาติที่สะอาด สดชื่น
ด้วยเหตุนี้เอง หลวงพ่อนิพนธ์จึงได้จัดซื้อที่บริเวณริมแม่น้ำ หลังเขื่อนศรีนครินทร์ อันเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลผู้คน และมีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อการณ์นี้ในอนาคต
พื้นที่ที่หาได้นี้ เดิมค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างกันดารนิดหน่อย แม้จะติดน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีหินมาก
แม้จะแทบไม่มีต้นไม้อยู่มากนัก แต่ในหมู่นั้นก็ยังมีต้นมะขามป้อมป่า ท่านจึงตัดสินใจซื้อ
ด้วยเหตุที่พื้นที่เดิมมีหินมาก และไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ เลย การเริ่มบูรณะและจัดสรรพื้นที่ ก็ได้อาศัยแรงจากคนไข้ เพราะไม่มีเงินจ้าง
ภาพที่เห็น จิตอาสา ที่หลังจากได้รับการฟื้นฟูจากโรคภัย ก็มาช่วยกัน นั่นคือ การขึ้นลงจาก ท่าเรือ ไปศรีสวัสดิ์ ออกตี ๕ กลับมา ๒-๓ ทุ่ม เกือบทุกวัน
ขบวนรถกระบะของหลวงพ่อนิพนธ์ ๓-๔ คัน จะขึ้นลงเกือบทุกวัน เพื่อปรับปรุง จัดเตรียมพื้นที่ผืนนั้น
และทุกครั้งที่กลับมา หลวงพ่อจะให้คนที่มาช่วย ทานอาหารที่ศาลาขนมไทย ก่อนกลับบ้านทุกครั้ง
หากแต่เรื่องเล่าที่หมู่เจ้าหน้าที่ยุคนั้นมักแซวกันเสมอ นั่นคือ จิตอาสาที่มาทำอาหารในยุคนั้น เมื่อทำนานวันเข้า ก็คงเบื่อ ดังนั้น อาหารที่จะนำมาให้ทาน จึงมักจะเรียกได้ว่า "ต้องฝืนทานอย่างยิ่ง"
จิตอาสา ในยุคนั้นจึงคิดว่า กลับไปทานบ้าน หรือ ซื้อหามาทานเอง หรือไม่ก็ออกไปทานที่ตลาดกันบ่อยครั้ง
จนวันหนึ่ง จิตอาสา ที่มาทำอาหาร ทนไม่ไหว ก่อให้เกิดวาจา อันอมตะที่มาล้อกันในหมู่จิตอาสาที่มาช่วยนั่นคือ "แดกได้ก็แดก แดกไม่ได้ไม่ต้องแดก"
จากวันนั้น ทำให้จิตอาสาที่มาช่วยส่วนใหญ่ จึงมักไปหาทานเอง หรือกลับไปทานบ้านแทนการทานที่ศาลานั่นเอง
หลวงพ่อนิพนธ์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในวันหนึ่งว่า การกระทำดังกล่าวของจิตอาสาที่มาช่วยไม่ถูกต้อง เพราะ การกระทำที่ถูกตามครรลองของพระภูมี นั่นคือ "ทำบุญแล้วต้องทำทาน" การที่มาร่วมกิจกรรม ถือได้ว่าเป็นการทำบุญ และการที่ทานอาหาร ถือว่าเป็นการทำทาน
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ อาหารนั้นจะเป็นเช่นไร อันนั้นเป็นกรรมของเรา อุปมาเหมือนพระบิณฑบาตร เลือกไม่ได้ การทำเป็นของผู้ทำ แต่การทานเป็นของเรา แม้นจะไม่ถูกปาก ถูกใจ แต่ถูกตามครรลองคลองธรรม ถูกตามวินัย
หากไม่ทานอะไรจะเกิดขึ้น หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวว่า แล้วคนที่มาทำอาหารให้ หรือคนที่นำวัตถุดิบมา เขาจะได้แบ่งบุญจากเราตรงไหน
เมื่อไม่ได้ ไม่มี แล้วคนที่นำวัตถุดิบมา หรือคนทำ จะเอาบุญที่ไหนเลี้ยงตน
ทุกคนควรมีโอกาส ที่จะลบล้างนิสัย การที่เราไม่ทาน ทำให้คนเหล่านั้น ขาดโอกาส และเวลาที่ผลบุญจะกลับมาเกื้อหนุนให้เป็นคนดีได้
คนทุกคนมีนิสัย ซึ่งต้องใช้วันเวลาสะสมนิสัยใหม่ของพระพุทธเจ้า ช่วงที่กำลังทำ ด้วยนิสัยเดิมย่อมปรากฎ จวบจนวันเวลาและผลของการกระทำนิสัยใหม่ มาเกื้อหนุน จึงดลจิด ดลใจ ให้เปลี่ยน ตามศรัทธา ความเชื่อ ที่มีต่อพระภูมี
หลักของพระพุทธเจ้า จึงมีพื้นฐานบนเมตตา หากเราขาดเมตตา คนเหล่านี้ย่อมไม่มีโอกาสเลย ทั้งคนทำและคนกิน ก็ไม่ประสพผลทั้งสองฝ่าย
คนทำขาดโอกาส คนกินขาดเมตตา
ดังนั้น สิ่งที่กำลังทำ หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวว่า แม่ชีเมี้ยนทรงเรียกว่า "ธรรมสามัคคี" ต้องช่วยกัน แม้ไม่ถูกใจ ก็ต้องอดทน เพราะทุกคนที่มา และทำ ตั้งอยู่บนพื้นฐาน วินัยของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่มาเพราะความคิดตน และต้องรอผลมาเกื้อหนุนทุกตัวคน
หลักของพระภูมี เอาเหตุ เอาผล ขอย้ำ .. จะเอาแต่ผล ไม่เอาเหตุ จะเป็นได้อย่างไร เมื่อมาอยู่รวมกัน ทำตามวินัย ทุกคนจึงเป็นเหตุซึ่งกันและกัน ตามกรรมที่ทำมา จะปฏิเสธไม่ได้เลย หากแต่สติที่ต้องใช้ นั่นคือ ความขันติ อดทน และสงบ
คนที่มีสติใหญ่กว่า ก็พึงสงบก่อน หยุดก่อน เมื่อหยุดเหตุได้ บุญก็เกิด และเกิดทั้งผู้เป็นเหตุที่ขาดสติ และผู้หยุด
ผลที่คนมีสติใหญ่กว่าหยุดได้ ก็จะส่งให้เกื้อหนุน คนที่สติเล็กมีสติมากขุึ้น นี่แหละเมตตามาก่อน
เมื่อผลของความเมตตามากขึ้น สังคมก็จะสงบ เขาจึงเรียกว่าสังคมของคนเจริญ คือ เจริญด้วยสติ และปัญญา
ไปเจอจิตอาสาที่มีใจ แต่สติยังเล็ก ก็ต้องทำใจ รอวันเวลาที่เขาจะโตขึ้น
ไม่ว่าเราท่านจะชอบหรือไม่ สิ่งที่หลวงพ่อกำหนด นั่นแหละเป็นเหตุแห่งบุญ และเหตุนั้นย่อมสัมพันธ์กับใจเราท่าน ถ้าจะทำด้วยนิสัย ก็คงไม่ทำ ไม่ทน อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาเหตุและผล ให้จงดี แล้วการทำของเรา ก็จะสบายใจ ไม่ทุกข์ใจ เพราะมันตั้งบนฐานเมตตาเขาและเรานั่นเอง
คำพูดที่ไม่รื่นหูในสมัยนี้ กับตำนาน "แดกได้ก็แดก" ในอดีต คงไม่ต่างกัน มันคือบททดสอบ ความขันติ อดทน อดกลั้น ของเรา บนพื้นฐานแห่งเมตตาเขาเหมือนเมตตาเรา ที่หลวงพ่อนิพนธ์ถ่ายทอดมาจากแม่ชีเมี้ยนให้เราปฏิบัติ
หลวงพ่อนิพนธ์จึงมักกล่าวว่า ไม่ผ่านบททดสอบ แล้วก็เที่ยวพูดว่า ทำได้ กูแน่
แต่พอเจอจริงๆ จะรู้เลยว่า ตัวเรายังไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย กระทบนิด กระทบหน่อย ทุกสิ่งก็ขาดผึง อารมณ์ก็พุ่งปริ๊ด
ภาพที่เราเห็น นี่และกรรมฐานของจริง ไม่ใช่นั่งหลับตา ในห้องแอร์ หาเหตุอันใดมากระทบใจไม่ได้เลย นอกจากเมื่อย และว่วงนอนเท่านั้นเอง
จะเอ่ยอ้างสักฉันใดว่าเราเป็นคนดี มีธรรม ในหัวใจ แค่คำไม่รื่นหู ก็ล้มอุปาทานในการทำความดีแล้ว บุญที่จะพึงได้ก็มลายไป แล้วจะเอาบุญที่ไหนมาเลี้ยงตน
คนที่ผ่านได้ ทำได้ พระพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า "รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดคน"
ยอดคนจึงไม่ได้มาจากความอยาก หรือนึกคิดเอาเอง หากแต่เกิดจากการทำได้ของคนคนนั้น ....
จึงไม่แปลกที่คนที่ผ่านคอร์สของพระภูมี จึงเรียกได้เต็มปากว่าคนดี มีศึลธรรม เพราะผ่านอุปสรรค เสือ สิงห์ กระทิง แรด มาแล้วนั่นเอง
ถ้าจะรอทำเฉพาะที่ชอบ เส้นทางนี้ก็คิดว่าคงเดินลำบากเป็นแน่แท้ เพราะนั่นคือการไม่เอาเหตุเอาผล หรือยอมที่จะเปลี่ยนตน ตามคำสอนของพระภูมีเลยนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น