อ.อร่าม มักจักพูดถึงคนในปกครองของหลวงพ่อนิพนธ์เสมอว่า มักมีการถวายสัจจะข้อหนึ่งเป็นประจำ คือ "การอุทิศแรงกายให้เป็นทาน"
หลวงพ่อนิพนธ์ เคยอรรถาธิบายว่า พระภูมีทรงสอนให้ ทำบุญและทาน ควบคู่กันไป
การทำบุญ อาศัยการลดกิเลสนิสัย การทำทาน คือการให้แก่ผู้อื่น
ด้วยพระภูมีบัญญัติธรรม เรียก "ธรรมสายกลาง" อันหมายความว่า เป็นธรรมที่ทุกคน ทุกสถานะ มีต้นทุนที่เหมือนกัน สามารถทำได้เสมอกัน เพราะอาศัยกิเลสตน ในการสร้างบุญ และอาศัยแรงกายของตนในการสร้างทาน ทำให้ผู้อื่น
นั่นหมายความว่า ความสำเร็จในแนวทางบุญของพระภูมี ของทุกคน ไม่ได้ขึ้นกับฐานะ ความมีจน หากแต่ขึ้นอยู่กับ ใครทำ ใครได้
บาตรของพระภูมี จึงปิดสำหรับใส่เงินทอง สมบัติ หากแต่เปิดเสมอสำหรับการใส่กิเลสนิสัย มากน้อยตามแต่จะทำได้ ไม่เป็นไร เพราะขอเพียงเริ่ม ย่อมต้องโต เพราะเป็นธรรมชาติ ไม่ว่านิสัยกรรม หรือนิสัยธรรม
ดังนั้น เหตุที่พระถ้ำกระบอกไม่ถือศีล ก็เพราะมันหนักไป และใช้การถือสัจจะ คือ การเริ่มลดละกิเลส ทีละน้อย ค่อยๆเป็น ค่อยๆไป แล้วจึงเพิ่มขึ้น ตามความสามารถของแต่ละบุคคล
เมื่อนิสัยธรรม เข้าครอบคลุมหมด แทนนิสัยกรรมได้ในวันใด นั่นแหละคือการหมดกิเลส
เข้าพรรษานี้ หลวงพ่อนิพนธ์จึงชวนชัก ให้เริ่มจากนิสัย ไม่โกรธ ไม่ติเตียนผู้อื่น วันละหนึ่งชั่วโมง นั่นเอง
ใครไม่รู้ศาสนา จึงมักกล่าวว่า ชีวิตของตนหากอาภัพ ก็ว่าฟ้ากลั่นแกล้ง แท้จริงแล้วไซร้ ล้วนถูกเขียนด้วยมือตน ทั้งหมดทั้งปวง
เมื่อรู้เรื่องศาสนา ก็เริ่มเขียนพรหมลิขิตของตนเสียซิ อย่างให้เป็นอย่างไร ก็ทำตนเป็นจิตกรเอก แล้ววาดไป
เริ่มทีละน้อยๆ ทำเท่าที่แบกไหว เมื่อทำได้ ครบชั่วโมง ก็อุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรไป เมื่อไม่มีกรรมมีเวร อย่าว่าแต่โรคเลย แม้นแต่ภัยอันตรายอันใด ก็ไม่มาทำร้ายคนดี หรือคนมีบุญหรอก
อย่างน้อยก็ขอให้ได้ลาภอันประเสริฐ คือ ความไม่โรค ไปในทุกภพทุกชาติ ที่จะยังพึงเกิดอีก