ศาลารักษาโรค แนวทางการรักษาด้วยสมุนไพรควบคู่ไปกับธรรมะ เผยแพร่กิจกรรมของมูลนิธิไทยกรุณา และให้ความรู้ด้านสมุนไพรรักษาโรค
วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ชิงไหวชิงพริบ
คำสอนที่เรามักจะได้ยินได้ฟังเสมอ คือ โรคเกิดจากกรรม โรคจึงเป็นปลายเหตุ ที่นำมาเพื่อการใช้กรรม ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อนิพนธ์จึงมักกล่าวว่า โรคไม่น่ากลัว เพราะเป็นแค่ลิ่วล้อ หาใช่ตัวแม่ไม่
สิ่งที่น่ากลัวคือ "กรรม" ต่างหาก ตัวเอกของเรื่อง ต้นเหตุแห่งสรรพสิ่งที่แม่ชีเมี้ยนมักตรัสว่า "กรรมมันใช้ กรรมมันสั่ง แล้วเป็นทุกข์"
ดังนั้น โรคที่เป็นอยู่ ก็ทำให้รู้ความหนักเบาของกรรม ว่าสาหัสสากรรจ์เพียงใด ที่สำคัญกว่ามีวันเวลาเหลืออีกเท่าใด โรคบางโรค เช่น อัมพฤกต์ เบาหวาน ความดัน เป็นต้น โรคจำพวกนี้ เป็นทัณฑ์ทรมาน มีไว้เพื่อทรมาน จึงเป็นโรคที่มีเวลาเพียงพอ เพราะไม่ใช่มาเพื่อฆ่า แต่มาเพื่อทรมาน
แต่โรคบางโรคนั้น วันเวลาลิขิตมาแน่นอน มาเพื่อฆ่า กระนั้นก็ตาม หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวว่า ถ้าหมดอายุขัย ก็ต้องยอม แลพึงตั้งความหวังเพียงให้ไปอย่างสงบ ก็ถือว่าประสพผลแล้ว แต่ในกรณีที่ยังไม่หมดอายุขัย สิ่งนี้ย่อมเปรียบเสมือนอุบัติเหตุแห่งชีวิต สามารถก้าวผ่านได้ ท่านจึงมักอุปมาพรหมลิขิตอายุขัย เหมือนสะพานไม้ มีขอนวางเรียงกันให้เราท่านเดิน แต่อีกไม่กี่ก้าวทางข้างหน้าสะพานชำรุด อาจแค่ผุ หรือหัก การเดินย่อมต้องระวัง หรือต้องซ่อมขอนไม้นั้นก่อน
หากเราท่านไม่ซ่อม และโชคดีพอ ขอนไม้นั้นแค่ผุพังนิดหน่อย ก็อาจเพียงแค่สะดุด หรือ ตกหล่ม ไม่ถึงกับร่วง ก็พยุงตัวลุกขึ้นไปต่อได้ แต่หากบุคคลใด ขอนไม้ที่ผุพัง หรือหัก มีระยะห่างเกินกว่าจะก้าวข้ามได้ ทำให้เดินไม่สุดราวสะพานพรหมลิขิต นั่นแลคืออุบัติเหตุแห่งกรรม
การจะซ่อมให้สะพานนี้เดินต่อไปได้ จึงต้องอาศัยบุญในการซ่อมแซม ดังนั้น องค์ประกอบที่สำคัญในการรักษาโรคด้วยตนเอง สำหรับคนจำพวกนี้ สมุนไพร คงไม่เพียงพอ พระภูมีจึงบัญญัติ "ธรรม" เพื่อหาบุญ มาซ่อมแซมสะพานชีวิตของเราท่านให้สามารถเดินต่อไปได้นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มา ของคำขวัญของชมรมคนรักสุขภาพ ที่ว่า "สมุนไพรรักษาโรค ธรรมรักษากรรม" ผู้ใดทำได้ส่วนเดียวก็นับว่ายังเสี่ยง หากทำได้ถึงพร้อมทั้งสองส่วน ก็มั่นใจได้ว่า สามารถเดินไปจนสุดสะพานได้อย่างแน่นอน
หากแต่ว่า การนำธรรมมาปฏิบัติ มีอุปสรรคใหญ่คือ ความไม่คุ้นเคย และเป็นเรื่องที่ต้องฝืนนิสัยเดิมที่ทำมา อย่างมหาศาล ดังนั้น สิ่งที่มักปรากฎ ผู้ที่มีความสาหัสสากรรจ์ในกรรมที่ทำมา เมื่อตกลงปลงใจใช้แนวทางนี้ พยายามทำอย่างเต็มที่ กรรมก็อาศัย ช่องโหว่ ทีเผลอ หรือนิสัยเดิม เป็นเหตุให้ คนผู้นั้นไม่ประสพผล ในการหนีกรรมพ้น ทำให้เสียชีวิตได้ พูดง่ายๆ ตามคำของหลวงพ่อนิพนธ์ก็คือ "เราประมาท ประเมินกรรมต่ำไป ทำให้ชะล่าใจ"
ด้วยเหตุที่คิดว่า เราท่านนั้นมีสมุนไพรดี ทานได้ และทำถูก อีกทั้งยังพยายามทำตามคำสอนของพระภูมี แล้วก็วางใจนั่นเอง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น