คนส่วนมาก มักจะขอพรให้ตนหายจากทุกข์ที่เป็นอยู่ โดยตนของตนไม่ต้องทำอะไรเลย
หากแต่หลักของพระภูมี ไม่ตอบสนองความอยากเหล่านั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมหลักของพระภูมี จึงมีคนนิยมน้อย แม้นจะดีหนักหนา จนกลายเป็นวลีฮิตในทุกยุคพุทธกาลว่า "ดีๆ แต่ไม่เอา"
หลักของพระภูมี สอนให้ทำ อยากได้ต้องทำเอง เมื่อทำได้ จึงจักได้พรอันนั้น การล้างกรรมก็เช่นกัน หาใช่มานั่งขอพรพระพุทธเจ้า ช่วยล้างกรรมที่ทำมา ซึ่งคำตอบที่ได้คือ ทำไม่ได้ แม้นจะมีเมตตาอันมหาศาล อยากให้พ้นทุกข์สักเพียงใด ก็ทำให้ไม่ได้
คำถามที่หลวงพ่อนิพนธ์ถามแม่ชีเมี้ยน แล้วพระพุทธเจ้าสอนสงฆ์ให้ล้างกรรมโดยวิธีใด แม่ชีเมี้ยนตรัสตอบว่า ก็ปฏิบัติวินัยธรรม ใช้ทุกข์ที่เกิดจากวินัยธรรม นั่นแหละล้างกรรม
แม่ชีเมี้ยนจึงหยิบยก เรื่องครั้งพุทธกาลมาให้พิจารณา เมื่อครั้งพระอานนท์ ไปพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า พระอานนท์มีกรรมที่จะต้องประสพในอีกไม่ช้า กรรมอันนั้นจักทำให้เข่าของพระอานนท์ เจ็บเป็นแผลฉกรรจ์ จึงทรงสั่งพระอานนท์ว่า ให้พระอานนท์นั่งความเพียรจากเดิม ที่ปฏิบัติคือ ๑ ชั่วธูป ให้เพิ่มเป็น ๓ ชั่วธูป
พระอานนท์ ก็คิดว่า ธรรมดาการนั่งเพียง ๑ ชั่วธูปของตน ก็ลำบากมากแล้ว เพราะมีปัญหาที่ขา เมื่อนั่งนานจักปวด คิดในใจว่า หากนั่งถึง ๓ ชั่วธูป คงจะแย่แน่ หากแต่ความเชื่อ และความศรัทธาในพระพุทธเจ้า จึงปฏิบัติตาม
ครั้นถึงเวลานั่งความเพียร พระอานนท์ก็ประสพเหตุเมื่อผ่านไปเพียง ๒ ชั่วธูป ขาก็มีอาการปวดรุนแรง หากแต่ความมีขันติ อดทน ก็พยายามนั่งต่อไป จนกระทั่ง ธูปที่ ๓ ความปวดก็ทวีความรุนแรง จนกระทั่งเหงื่อโทรมกาย ปวดขาจนร่างกายสั่นไปทั้งตัว แต่ก็ทำจนครบตามที่พระพุทธเจ้าสั่ง
หลังจากครบ ๓ ชั่วธูป รอจนอาการปวดเบาบางลง ความสงสัยก็ทวีขึ้นจนอดไม่ได้ที่จะต้องทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เพราะเหตุใดจึงต้องให้ท่านนั่งความเพียรถึง ๓ ชั่วธูป
พระพุทธเจ้าตรัสตอบพระอานนท์ว่า อานนท์เอ่ย ก็ตัวท่านเล็งเห็นแล้วว่า อานนท์มีกรรมที่ทำมา จักต้องทำให้เข่าเจ็บสาหัส จึงสั่งให้อานนท์ทำเช่นนี้ เพราะเมื่ออานน์ทุกข์กับวินัยธรรมแล้ว กรรมอันนั้นก็จะถูกล้างไปหมดสิ้น อานนท์ก็จักไม่ต้องไปรับกรรมเจ็บเข่าอันนั้น
ธรรมอีกหมวดหนึ่งที่แม่ชีเมี้ยนหยิบยกพุทธประวัติมาให้พิจารณา นั่นคือ ในพุทธกาล พระโมคคัลลา จักมีพฤติกรรมอันหนึ่งนั่นคือ ต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำ วางไว้บนศรีษะ ด้วยเหตุว่า พระโมคคัลลา เมื่อกระทบกับอากาศร้อน ศรีษะโดนแดดมาก ก็จะมีอาการปวดหัว จึงกระทำเช่นนั้น เพื่อบรรเทาอาการปวด
พระพุทธเจ้าจึงสั่งเป็นวินัยให้พระโมคคัลลาหยุดทำเช่นนั้นเสีย ในยามใดที่ต้องเดินกลางแดด ห้ามนำผ้าเช็ดหน้าชุบน้ำวางโดยเด็ดขาด
พระโมคคัลลาก็ปฏิบัติตาม ผลก็คือ เมื่อยามใดที่โดนแดด อาการปวดหัวก็จะเกิดขึ้น เป็นเช่นนั้นตลอด จนในที่สุดอาการนั้นก็หายไป
พระโมคคัลลาจึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทรงตรัสตอบว่า เพราะในอดีตพระโมคคัลลาเคยใช้ความคิด ทำร้ายผู้อื่น ผลของกรรมมาสนอง จึงกำหนดวินัยทุกข์อันนี้ให้แก่พระโมคคัลลา เพื่อล้างกรรมอันนั้นนั่งเอง
พุทธประวัติสองกรณีนี้ แม่ชีเมี้ยนได้หยิบยกมาให้หลวงพ่อพิจารณา ในขณะที่มีอาการมาเลเรียขึ้นสมอง
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากการออกธุดงค์ในปีแรกของการบวช แลวินัยที่แม่ชีเมี้ยนกำหนดให้ในการเดินธุดงค์นั่นคือ การเดินนั้น ต้องเดินให้ได้ระยะ ๕ กิโลเมตร ในแต่ละช่วงจึงจักหยุดพักได้
หากแต่ในธุดงค์แรกนั้น หลวงพ่อนิพนธ์ เดินไปเจอแดดร้อนๆ ก็ไม่ทน ดังนั้นเมื่อเห็นร่มไม้ร่มๆยามใด ก็แวะหยุดพักเรื่อยไป ตลอดทั้งการธุดงค์นั้น
เมื่อกลับถึงถ้ำกระบอก หลังจากหมดธุดงค์ แม่ชีเมี้ยนจึงกล่าวว่า ผลแห่งการทำเช่นนั้น นั่นคือ การหนีทุกข์จากวินัยทุกข์ของพระพุทธเจ้า แล้วจักหนีกรรมที่ทำมาได้อย่างไร
แลอีกไม่นาน เมื่อสามเณรเข้าไปเก็บยาในป่า และติดเชื้อมาเลเรีย มีอาการไข้ขึ้นสมอง แม่ชีเมี้ยนจึงตรัสว่า กรรมที่ท่านทำมา ในการยิงหัวนกมากมายในอดีต มาถึงแล้ว เมื่อท่านปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติวินัยทุกข์ของพระภูมี เมื่อครั้งธุดงค์ ท่านก็ทำใจรับเถิด เพราะหนีมันไม่พ้นแล้ว
นิยายพุทธประวัติ ทั้งพระอานนท์ และพระโมคคัลลา จึงถูกหยิบยกมาให้พิจารณา เพื่อลบคำตัดพ้อของสามเณรนิพนธ์ที่มีต่อแม่ชีเมี้ยน ที่ว่า "ทำดีอย่างนี้ ทำไมต้องมาเป็นแบบนี้อีก" และทำให้มีน้ำอดน้ำทนต่ออาการของไข้มาเลเรียในครั้งนั้น
นอนซม และอดข้าวอยู่ ๔ วัน จึงฟื้นไข้
เหตุในครั้งนั้น จึงกลายมาเป็นวินัยทุกข์ที่จะเรียกว่าบังคับให้ทำก็ว่าได้ นั่นคือ การสวดมนต์ และนั่งฟัง ไม่สนหรอกว่าจะเต็มใจหรือไม่ แต่เมื่อทำ สิ่งที่ได้คือบุญ ที่จะใช้หนีกรรม หรือล้างกรรม เพราะทำเอง
กราบอ้อนวอนให้ตาย ก็ไม่ได้พร หรือล้างกรรมให้ไม่ได้หรอก แต่พาตัวเองมา นั่งสวดมนต์ นั่งความเพียรสงบ และฟังคำสอน นี่แหละฝืนนิสัย ตามที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ เป็นบุญ ที่จะไปล้างกรรม เมื่อทำได้ จึงให้เราท่าน อุทิศ... ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย ไม่ฝืนนิสัยอะไรเลย แล้วก็กล่าวอุทิศบุญ มันมีแต่ลม ผลจึงเป็นลม ช่วยตนไม่ได้ ดั่งที่คนทั่วไปเขาทำกัน
บุญของพระพุทธเจ้า บัญญัติว่าคือการกระทำให้สุขแก่มนุษย์และสัตว์ การสวดมนต์นั่งสงบ ก็เป็นการฝืนนิสัย หยุดไม่ว่าใคร ไม่ด่าใคร แม้นเพียงชั่วระยะ ก็ถือว่าได้ทำตาม และเป็นรอยให้เดินตาม
การเห็นผลในการทานสมุนไพร จึงจำเป็นต้องอาศัยบุญ ใครมองเห็นแนวทางบุญที่สอนเริ่มต้นนี้ได้ แล้วนำไปทำลดนิสัยตน อยู่ในความสงบ ให้สุขแก่ผู้อื่น อย่าเลยมนุษย์และสัตว์ แม้นจักเพียงวันละหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง ก็มีผลมหาศาล เพียงพอต่อการช่วยตน ได้สัมผัสลาภอันประเสริฐแล้ว
บทสรุปหลวงพ่อนิพนธ์จึงชี้ให้เห็นว่า ธรรมสายกลางของพระพุทธเจ้า กำหนดบุญบาปไว้ที่ การกระทำที่มีผลต่อมนุษย์และสัตว์ ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นชนใด ชาติใด นับถือสิ่งใด การล้างกรรม ล้างบาป หาใช่ด้วยการนั่งขอพร ขอให้ตายก็ไม่มีทางสำเร็จ วิธีประการเดียวก็คือ มาเรียนรู้ธรรมคำสอน แล้วเอาไปปฏิบัติเป็นบางสิ่งบางอย่าง ทุกข์อยู่ในวินัยทุกข์ของพระภูมี เช่นไม่โกรธ ไม่ด่าว่าใคร วันละหนึ่งชั่วโมง แล้วจะได้ไม่ต้องไปทุกข์กับกรรม กับโรคที่เป็นมา ...
พวกที่รอชวนให้สร้างโบสถ์สร้างศาลา สร้างพระ สร้างเจดีย์ มีเยอะ ชวนปุ๊บ มาปั๊บ ยินดีจ่าย ... รอไปเถอะ ไม่มีทางในแผ่นดินแม่ชีเมี้ยน เพราะสิ่งนั้น หามีประโยชน์แก่มนุษย์และสัตว์ไม่ จึงหาบุญไม่ได้ หลวงพ่อนิพนธ์ไม่ส่งเสริมให้ทำหรอก จะมีก็แต่สมุนไพร ที่ชวนให้เอามา ทั้งแก่ตัวเอง เหลือก็ทำทานแก่ผู้อื่น และลดนิสัยตัวเอง ที่จะให้ทุกข์แก่ผู้อื่น เพิ่มนิสัยพระพุทธเจ้าที่จะให้สุขแก่ผู้อื่น นี่แหละมีผลต่อมนุษย์และสัตว์ แคบสุดก็คนในบ้าน ... ทำได้บ้านก็ร่มเย็นแล้ว ไม่ต้องไปขอพรจากที่ใดดอก