ศาลารักษาโรค แนวทางการรักษาด้วยสมุนไพรควบคู่ไปกับธรรมะ เผยแพร่กิจกรรมของมูลนิธิไทยกรุณา และให้ความรู้ด้านสมุนไพรรักษาโรค
วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557
คุณสมบัติ
ความยุ่งยาก และถือเป็นบัญญัติของฟ้าดิน ในธรรมของพระภูมี นั่นคือ ช่วยใครไม่ได้เลย แม้นอยากสักฉันใด สิ่งที่ช่วยได้นั่นคือให้ความรู้ แล้วไปสร้างคุณสมบัติรองรับอำนาจบุญเอง
ความยากของบัญญัตินี้ ในพุทธประวัติเมื่อพระโคดมครั้นสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ยืนยัน... ว่าสำเร็จแล้ว ทรงพิจารณาสัตว์โลก ในความจริงข้อนี้ ก็ทรงเห็นว่ามนุษย์คงทำได้ยาก จึงเกิดความคิดที่จะอดอาหารเพื่อเข้านิพพานเลย หาใช่ความตามในพระไตรปิฏกไม่
หากแม้นตัดกิเลสได้ เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ต้องมาหาบุญไปนิพพาน จึงได้สติจากคำเตือนของฟ้าดิน จนต้องกลับมาฉัน แล้วเราท่านจึงมีพระอรหันต์สาวก นับแสนรูป ให้เห็นเป็นประวัติศาสตร์
หลวงพ่อนิพนธ์เคยอรรถาธิบายว่า คุณสมบัติก็มีเป็นขั้นเป็นระดับ ใครที่อยากได้ ก็มาเรียนแล้วไปปฏิบัติ การปฏิบัติก็อุปมาเหมือนการสอบ ผลแห่งการปฏิบัติก็จะบอกได้ว่า จะเลื่อนขั้นได้หรือไม่
นี่จึงเป็นอีกเหตุหนึ่งแห่งการเข้าพรรษา เพื่อที่จะให้สงฆ์ได้มาเรียนรู้การปฏิบัติ แล้วฝึกฝนเตรียมพร้อม เมื่อออกพรรษา ก็ไปปฏิบัติกิจธุดงค์ นั่นคือการสอบ วนเวียนไปอย่างนี้จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
หลักธรรมชาติ ของการสร้างอำนาจ มีลักษณะเหมือนกัน ปฏิบัติเช่นเดียวกัน มีขั้นมีตอนเพื่อผลสัมฤทธิ์เฉกเช่นเดียวกัน นั่นคือ กาย วาจา ใจ
การสร้างกรรมที่สมบูรณ์ จึงเกิดจากกรรมที่ประกอบพร้อม ทั้งกาย วาจา ใจ ฉันใดก็ฉันนั้น การประกอบธรรมที่สมบูรณ์ ก็เฉกเช่นเดียวกัน
หลักใหญ่ใจความ อยู่ที่คำ "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" ค่าของน้ำหนักกรรมและธรรม จะมากน้อย ก็อยู่ที่ผลแห่งใจนั่นเอง
การมาปฏิบัติธรรมหมวดสมุนไพร หลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวย้ำเสมอ แพ้ชนะวัดกันที่ใจ ... สติเมื่อได้พิจารณาเหตุและผลที่พระภูมีทรงทิ้งไว้ให้ เกิดความเชื่อ ใจก็จะเกิดศรัทธา แล้วก็จะบังคับวาจา และกายให้ทำตาม
ผลแห่งการฟัง จะไม่มีทางบังเกิดเลย ไม่ว่าจะฟังมากสักฉันใด หากใจของผู้ฟังไม่เปิดรับ ภาพของศาสน์จึงเสมือนกับการปรบมือ จากคนสองคน ฝ่ายหนึ่งยื่นมือไป อีกฝ่ายไม่ยื่นมือมา หรือยื่นไปคนละทิศคนละทาง จะโบกมือสักฉันใด ออกแรงสักฉันใด ก็ไม่มีทางบังเกิดเสียง นั่นคือไม่มีทางสำเร็จได้
บทสรุป หลวงพ่อนิพนธ์จึงชี้ให้เห็นว่า กระไดขั้นแรก ของคุณสมบัติ จึงเกิดจากความกตัญญู
ผู้ใดก็ตามที่สร้างบ้าน หากแต่ขาดเสียซึ่งเสาเข็ม คือความกตัญญู ภาพที่ดู อาจจะเป็นบ้านที่ใหญ่โต แข็งแรง หากแต่วันหนึ่งเมื่อเจอภัยที่รุนแรง ก็ต้องล้มครืน
พระภูมี จึงอุปมาคนที่มีจิตใจไม่มีกตัญญูเป็นพื้นฐานไว้ว่า "พวกเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวอุปมาให้ชัด ก็คือ ไม่ชอบคนให้ แต่ออยากได้สมุนไพรที่เขาแจก นั่นเอง
อันว่าธรรมสายกลาง อีกนัยหนึ่ง จึงหมายความว่า ไม่ว่าเป็นผู้ใด ศาสนาใด ชนเผ่าใด ก็สามารถทำได้ เมื่อทำได้ย่อมได้ผลเฉกเช่นเดียวกัน นี่เองจึงเป็นเหตุให้ธรรมของพระภูมี จึงมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก ส่งคนมาศึกษาเล่าเรียน เพื่อนำกลับไปให้ชนของตนปฏิบัติ เพื่อช่วยตน
หากใครที่ชอบประวัติศาสตร์ อาจจะเคยเจอการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เผยแพร่กันอยู่ในวงแคบ เพราะไม่อยากให้คนรู้ นั่นคือเรื่องราวการสืบสาวประวัติของต้นตำนานบัญญัติสิบประการ ว่าแท้จริงแล้วก็เป็นพระรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนานั่นเอง ใครสนใจก็หาดูได้ในกูเกิล
บทสรุป ที่หลวงพ่อนิพนธ์เน้นย้ำ ฟ้าดินเขาไม่ตัดสินที่พฤติกรรมภายนอก หากแต่ดูกันที่ใจ ดั่งพุทธประวัติ พระเทวทัต ที่แม้นจักออกบวช ประพฤติปฎิบัติ เรียกว่าเคร่งกว่าพระโคดมเสียอีก หากแต่ท้ายที่สุด สิ่งที่ทำก็หาเป็นบุญไม่แม้นแต่สักน้อย ยิ่งเกิดเป็นมิจฉาทิฐิ ทำบาปหนักเข้าไปอีก
คำเตือนจากหลวงพ่อนิพนธ์ จึงกล่าวเสมอว่า ไม่ได้บังคับ ไม่ชอบ ก็ไปหาที่ที่ตนชอบ อย่ามาเสียเวลาเลย หลอกตัวท่านอาจจะหลอกได้ แต่หลอกตาของฟ้าดินไม่ได้หรอก
คุณสมบัติ จึงต้องถูกเริ่มสร้างจากการบังคับกาย และวาจา ใจ ด้วยการบังคับให้สวดมนต์ และฟังเหตุและผล ... อยากรู้ว่าโรคของตนจะหายไหม จึงเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน เพราะตนนั่นแหละจะรู้ดีว่า ใจของตนมีที่ว่างให้ธรรมแทรกเข้าไปมากน้อยเพียงใด ... นั่นแลคุณสมบัติที่ตนมี ก็มากน้อยเพียงนั้น ผลที่เกิดจากการทานสมุนไพร ก็เป็นไปตามสิ่งที่ทำได้
ด้วยเหตุความจริงข้อนี้ ใครก็ช่วยใครไม่ได้ อยากได้ต้องทำเอง
จึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมจึงบอกว่า คนที่เข้าห้องสวดมนต์แล้วยังคุย ยังหาความสงบไม่ได้ คนเหล่านี้คบไม่ได้ ก็เพราะคนเหล่านั้น แม้นแต่เพื่อช่วยตนยังไม่ทำ พูดให้หนักกว่า ฆ่าตัวเองยังทำได้ จะเชื่อหรือวางใจได้อย่างไรว่าจะรักเราหรือช่วยเราได้ นี่แหละหลักปราชญ์ จึงมีคำที่พระภูมีตรัส "ให้ช่วยตนก่อน แล้วจึงช่วยผู้อื่น" ด้วยสิ่งที่ช่วยตนได้จนพ้นภัย ย่อมเป็นสิ่งถูก เมื่อนำไปใช้ช่วยผู้อื่น ย่อมไม่พลาดผิด แต่ความรู้หรือสิ่งที่ตนทำ ยังไม่รู้ถูกผิด ยังช่วยตนไม่ได้ กลับไปอวดอ้างสอนคนอืน ความรู้นั้นย่อมอันตรายยิ่ง ...
ธรรมจักร ในความหมาย จึงเป็นที่มาของพระมาลัยที่ทำตนจนสำเร็จช่วยตนได้ มาทำหน้าที่หมุนกงล้อธรรมจักรให้เคลื่อน ด้วยความรู้ที่ถูกที่ตนมีนั่นเอง ... อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูต่อพระภูมี ประการหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า เมตตาธรรมนี่แหละเป็นคุณธรรมที่ใช้ค้ำจุนโลก .. ไม่ใช่พอตนรอดก็ตัวใครตัวมัน หากเป็นเช่นนั้น เราท่านคงไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอนสั่งสาวกดั่งในประวัติศาสตร์แล้ว