เมื่อเน้นผลแห่งการกระทำ เพื่อผลสำเร็จ นั่นก็หมายถึงการเน้น การกระทำหรือตัวกระทำ ที่เมื่อทำแล้วเป็นมรรคเป็นผลนั่นเอง
ตลอดเวลา เราท่านมักได้ยินแต่การสร้างบุญโดยวิธีทางต่างๆ การสร้างคุณสมบัติ และการตอกย้ำเสมอว่า ต้นแบบแห่งบุญ คือ พระพุทธโคดม แสดงให้เห็นแล้วว่า การหาบุญ พึ่งวัตถุหรือสิ่งอื่นใดไม่ได้เลย อันหมายถึง สิ่งนอกกายนั้นให้ผลน้อย เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ นั่นเอง ด้วยการทิ้งเวียง ทิ้งวัง ออกมาเดินกลางดิน กินกลางทราย
และภาพที่หลวงพ่อนิพนธ์ ฉายให้เห็นเด่นชัด ลักษณะของบุญ คือ วินัยทุกข์ หากแต่เป็นทุกข์จากธรรมวินัยทำให้เกิด เพื่อจะได้พ้นทุกข์ที่เกิดจากกรรมนั่นเอง
จุดใหญ่ใจความ ที่ชี้ชัดเข้าไปอีก เพื่อแสวงหาซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนค้นหา เดินทางไปแห่งหนตำบลใด วัดใด .. หากแต่อยู่ที่การนำธรรมวินัย มาปฏิบัติ สร้างคุณสมบัติของตน รองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเกื้อกูลเอง
ขยายความให้ฟังว่า นั่นหมายถึง เมื่อเรียนรู้แล้วพิจารณา เข้าใจ ก็สามารถไปสร้างบุญ ณ.แห่งหนตำบลใด เวลาใด ก็ได้ ไม่จำเป็นหรือจำกัดว่า ทำบุญต้องทำที่วัด ทำกับพระ ไม่ใช่ ไม่ใช่
และมาระยะนี้ หลวงพ่อนิพนธ์ก็พึงเน้นว่า เมื่อเราทราบหนทางบุญของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่เพราะเหตุใด การทำของเราท่านจึงไม่ก้าวหน้า หรือ บรรลุผล
นี่แหละเรียกเหตุแห่งการเสียไปแห่งบุญที่ทำ ดังนั้น คำสอนในช่วงเวลานี้จึงต้องตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เพื่อเก็บเกี่ยวผลแห่งบุญที่ทำให้ได้มากที่สุด หรือเสียน้อยที่สุด เพื่อนำไปช่วยตนให้สำเร็จนั่นเอง
ยกตัวอย่างการเสียไปแห่งบุญ ที่หลวงพ่อนิพนธ์มักเล่าให้ฟังเสมอ นั่นคือ เมื่อครั้งพุทธกาล มีผู้หญิงคนหนึ่ง เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ก็อยากที่จะทำข้าวปลาอาหาร เพื่อไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า
หากแต่การกระทำเช่นนั้น ก็ทราบโดยทั่วไปว่าการตักบาตรแก่พระพุทธเจ้าเป็นบุญมาก แต่ผู้หญิงท่านนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า บุญที่ได้ก็น้อยนิด
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนหญิงนี้ว่า ด้วยเหตุแห่งการเสียบุญไป อันเนื่องมาจาก เจตนาของตนที่ตั้งไว้มันเสียไปนั่นเอง โดยเมื่อแรกเดิม หญิงนี้ มีความตั้งใจทำอาหารไว้ในใจอยู่ก่อน หากแต่เมื่อได้ฟังผู้อื่น ก็เปลี่ยนไปตามความคิดผู้อื่น นั่นจึงเป็นด้วยว่า อาหารนั้นจึงไม่ได้มาด้วยความคิดของตน แต่แปรไปตามผู้อื่นเสียแล้ว บุญที่พึงได้จากอาหารนี้ ก็เสียไป ๓ ส่วนให้แก่เจ้าของความคิดไปเสียแล้ว เรียกว่า สิ่งที่ทำมันขาดเจตนาของตนไป ผลจึงไม่สมบูรณ์
มาวันนี้ หลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวว่า เจตนาจึงเป็นเครื่องกำหนดผล เราท่าน อาจไม่อยากซื้อสมุนไพร แต่กลัวเขาว่าบ้าง ฟังคนอื่นบ้าง เลยจำใจทำ หรือ ทำตามความคิดผู้อื่น ..นั่นจึงเป็นเหตุว่า ทำเหมือนกัน หากแต่ถ้าทำถูก ทำน้อยก็ได้มาก ถ้าทำผิด ทำมากก็ได้น้อย
บทสรุป หลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวว่า ทำไมจึงไม่ทำให้บุญอันนั้นสมบูรณ์เล่า คิดเอง ตั้งเจตนาเอง แม้นมะพร้าวเพียงลูกสองลูก ตามกำลังที่ตนมี ค่าก็มหาศาล ดีกว่าสร้างโบสถ์สร้างเจดีย์เสียอีก
หากไม่พร้อมซึ่งเจตนาแล้วไซร้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะทำ เพราะผลมันน้อยนิด เหมือนทำไปเสียเปล่า แม้นทำมากสักฉันใด ก็ได้ผลเพียงน้อยนิด
อุปมาคนไข้มะเร็ง ที่ช่วยตัวเองยังไม่ไหว แต่อยากจะช่วยล้างจาน แม้นวันหนึ่งจะล้างได้เพียง ๗ ใบ ผลแห่งการกระทำนั้นก็สามารถช่วยตนให้หายจากมะเร็งได้ จนทุกวันนี้ ล้างได้เอง วันละเป็นพันใบ
นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์แห่งคุณสมบัติ เพราะหลายคนก็ทำมากกว่าล้างจาน ๗ ใบ แต่ทำไม ผลมันจึงยังช่วยตนไม่ได้ ...
คำสอนช่วงนี้ จึงค่อนข้างเข้มข้น และกระชับเข้าไปเรื่อยๆ จึงควรตั้งใจฟัง พิจารณา ... ฟังแล้วจับเอาแค่เสี้ยวที่ทำได้ เอาไปทำ ทำได้ เรื่องหายก็ไม่ไกลเกินฝัน