ฟังท่านอาสิ หลายคนอาจมีความคิดและเห็นเป็นเรื่องลำบาก ทำไปทำไม นั่นก็คือ "วินัยของพระพุทธเจ้า เป็นวินัยทุกข์" ก็ในเมื่อมันเป็นวินัยทุกข์ แล้วจะสร้างสุขให้แก่เราท่านได้อย่างไร แสดงว่า หากเชื่อแล้วทำตาม ก็ต้องทุกข์ไปตลอดจนตายอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำเพื่อ..
ก็ตัวของเราท่านที่มา ก็ทุกข์อยู่แล้ว ด้วยโรคภัยมาเบียดเบียน แล้วไยต้องมาหาทุกข์เพิ่มให้แก่ตนอีกเล่า แค่ทุกข์ด้วยโรค ก็สาหัส ไหนจะต้องมาทุกข์กับวินัยอีก
แม่ชีเมี้ยนทรงตรัสว่า หากผู้ใดทำวินัยทุกข์ของพระพุทธเจ้าได้ ผลที่ได้รับคือ "ชีวิตจะมีความหมาย"
แลวินัยทุกข์อันนี้ หาใช่ทุกข์เพราะเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ สายตัวแทบขาด ก็หาใช่ไม่ เราท่านก็ยังคงดำรงตนปกติ แต่ที่ทุกข์ก็คือ ทำตามนิสัยสันดานเดิมของตนไม่ได้ หรือ ที่หลวงพ่อนิพนธ์มักกล่าวว่า ต้องมีที่เว้น นั่นเอง คือ เว้นที่จะไม่ทำตามนิสัยตน หรือ ปล่อยตามนิสัยตน ไปทุกเรื่อง ทุกเวลา
หากแต่เมื่อเทียบกับคนทั่วไป ที่ไม่ต้องทำวินัยทุกข์ บางคนก็บอกตนนั้นสุขเหลื่อเกิน มีเงินมีทอง มีบ้านมีรถ มีทุกสิ่งอย่าง แต่หากพิจารณาไปยังคนเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์แฝงไว้ข้างใน ด้วยไม่รู้ว่า ตนจะตายเมื่อไหร่ ความเจ็บ หรือ โรคภัยจะมาเบียดเบียนตนวันไหน ที่สำคัญ สถานะของตน จะเป็นอย่างที่ตนให้เป็นไปจนวันตายไหม
๖ หลวงพ่อนิพนธ์ เล่าการพบปะสังสรรค์ ของเพื่อนสนิทของท่านที่เรียนกันมา แล้วสอบติดแพทย์ ๕ คน ส่วนตัวท่าน ก็หันเหไปบวช ซึ่งทุกคนบอกว่า พวกเราเป็นหมอ ส่วนหลวงพ่อนิพนธ์ มันเป็นหมอผี ผ่านวันเวลามาเจอกันในวัยประมาณ ๗๐ ปี หมอ
๕ คน บอกหลวงพ่อนิพนธ์ ว่ารู้สึกเหมือนตัวเองไร้ค่า เรียนมารักษาใครไม่ได้เลย ทำตัวได้ก็แค่เสมือนเซลล์ขายยาให้ฝรั่ง ที่สำคัญ มาวันนี้ ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องกินยา หนักกว่านั้น คือ คนนั้น กินไอ้นั่นไม่ได้ คนนี้ กินไอ้นี่ไม่ได้ มีแต่หลวงพ่อนิพนธ์คนเดียว ที่กินได้ทุกอย่าง สูบบุหรี่ ทานเหล้าได้หมด
ทุกข์ที่ซ่อนอยู่แต่ไม่มีใครบอก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตตนจักเป็นเช่นไร หากแต่คนที่อยู่กับวินัยทุกข์ ทำตนมีนิสัยของพระพุทธเจ้า ให้สุขแก่ผู้อื่นเป็นอุปนิสัย นั่นย่อมหมายความว่า ชีวิตคนเหล่านี้ มีความหมายต่อสรรพสัตว์ คนผู้นั้น ย่อมสุข เพราะรู้ว่า ชีวิตตนจะอยู่จนครบอายุขัย ไม่ตายด้วยโรค ด้วยอุบัติภัย อย่างแน่นอน ที่สำคัญ อยู่อย่างมีคุณภาพ คือ ไม่เจ็บ จนล้มหมอนนอนเสื่อ ทำวินัยไม่ได้
แค่ความหมายแค่นี้ การทำวินัยทุกข์ ที่แรกเริ่มอาจทุกข์หนัก เพราะฝืนนิสัยมาก หากแต่เมื่อทำได้ ก็กลายเป็นความคุ้นชิน เป็นอุปนิสัยใหม่ ที่ไม่สร้างกรรม รอตนอยู่วันข้างหน้า นั่นหมายความว่า ตนได้กำหนดพรหมลิขิตที่ดีของตนไว้ในวันข้างหน้า แลพรหมลิขิตนั้น เป็นพรหมลิขิตที่ดี อีกต่างหาก จะไม่สุขได้อย่างไร
บทสรุป สุขของพระพุทธเจ้า จึงเป็นสุขนิสัย ที่เมื่อทำแล้ว ย่อมวางใจว่า ผลเบื้องหน้าของตน ย่อมดีแน่ หลวงพ่อนิพนธ์จึงมุ่งเน้น ให้เรามีที่เว้น สร้างนิสัยสุข แลสุขย่อมรอตนของเราในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน
คำถามง่ายๆ คนที่รู้ว่าวันข้างหน้าของตน จะปลอดภัย ไม่มีโรค ไม่มีภัย กับคนที่ไม่รู้อะไรเลยว่าชีวิตตนจะเป็นเช่นไร ใครจะสุขกว่ากัน นี่แล ทำไมคนที่ฟัง เชื่อ พระพุทธเจ้า แล้วทำตาม จึงมีมานะ ขันติ อดทน เพราะรู้ว่า การกระทำที่ทำ ไม่ตาย รออยู่วันข้างหน้า
แถมนิสัยสุขนี้ ยังตามติดไปชาติหน้า ก็สร้างสุขรอไปทุกภพทุกชาติ เฉกเช่นคนที่มินิสัยกรรม เมื่อเกิดโรค โรคก็ตามติดไปทุกภพทุกชาติ เรียกโรคกรรมพันธ์ แลนิสัยกรรมแห่งตน ก็สร้างทุกข์รอไปทุกภพทุกชาติเช่นกัน
หลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวเสมอว่า หายโรคเป็นเรื่องกระจอก นั่นมันของแถมของศาสนา เมื่อมีวาสนามาพานพบ ทำไมไม่ไปเรียนรู้ ทำตน พัฒนาตน ให้ชีวิตตนมีความหมาย สร้างสุขแก่ตน ไปทุกภพทุกชาติเล่า วิชาทางโลกยังทุ่มเทมากมาย หลายสิบปี ก็แค่มีกิน มีใช้ กันเวรกันกรรมไม่ได้เลย โรคมาโครม ก็ไม่รุ้ที่ทำพอไหม แต่วิชาของพระพุทธเจ้าที่แม่ชีเมี้ยนนำมา มีเพื่อช่วยตน อย่าว่าแต่โรค กันได้แม้กระทั่งกรรม ไม่มีเวลาไปเรียน ไปทำเลย ... น่าเสียดายโอกาสนัก
มาเพียงเพื่อเอาแค่หายโรค ... แน่ใจเหรอว่าชาติหน้าฉันใด จะได้เจอศาสนา แต่นิสัยยังมี ตราบใดที่ยังมีนิสัยสร้างกรรม ช้าเร็วโรคมันก็เวียนมาหาอีก แม้นโชคดีชาตินี้อาจจะไม่ แต่ชาติหน้าก็ไม่รอด เพราะให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว นิสัยกรรม มันสร้างรอเราอยู่ข้างหน้าแน่นอน