ศาลารักษาโรค แนวทางการรักษาด้วยสมุนไพรควบคู่ไปกับธรรมะ เผยแพร่กิจกรรมของมูลนิธิไทยกรุณา และให้ความรู้ด้านสมุนไพรรักษาโรค
วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ความจริงที่สัมผัสได้เอง
สัปดาห์แรกหลังจากการออกพรรษา สมาชิกท่านหนึ่งที่ได้ผ่านการบวชีในพรรษานี้ได้เข้ามาพูดคุยกับเรา
สิ่งแรกที่สมาชิกท่านนั้นกล่าวก็คือ ความสงสัยที่ว่า ตอนอยู่ในพรรษา เธอแม้นจะมีสัจจะฉันมื้อเดียว แต่เธอก็ทานได้ปกติ และได้ปริมาณเพียงพอ นั่นคือ ในแต่ละวันไม่รู้สึกหิวโหย
แต่หลังจากลาสึกออกมาอยู่บ้าน แม้นจะทานได้หลายมื้อ กลับปรากฎว่าเธอทานอาหารไม่ได้ เพราะเกิดอาการอยากอาเจียนซ้อนขึ้นมา
ปัญหาแรก ยังไม่คลี่คลาย สิ่งที่เธอแปลกใจเป็นนักหนานั่นคือ ในช่วงที่เธออยู่ในพรรษา ทานมื้อเดียว สวดมนต์ ทำกิจตลอดวัน อาการปวดศรีษะของเธอที่เคยเป็นก็ไม่เคยปรากฎเลย
ครั้นพอสึกออกมา อาการปวดศรีษะของเธอกลับมาอีกครั้ง
นี่แหละสิ่งที่หลวงพ่อนิพนธ์บอกกล่าวกับเราท่านเสมอ ว่าแผ่นดินนี้ไม่ธรรมดา มีอำนาจปกปักรักษาผู้ประพฤติธรรม ดูด้วยตาอย่างไรก็ไม่ใช่วัด หากแต่สิ่งที่ปรากฎแก่ตน จะทำให้รู้ว่า ผลแห่งการปฏิบัตินั้น เป็นเช่นไร
เราท่านทั้งหลาย เมื่อยังไม่ได้สัมผัส เพราะทุกข์ยังมาไม่ถึง เลยไม่ซึ้ง แต่ผู้ที่นอนอยู่ในกองทุกข์ จะสัมผัสได้เลยว่า เมื่อเราเดินอยู่ในวินัยของพระพุทธเจ้า เรานั้นทุกข์กับวินัยแล้วไซร้ ทุกข์กายของเราก็จะเบาบางหรือหายไป เพราะได้ใช้แล้วนั่นเอง
แต่เมื่อเราออกจากเขตพัทธสีมา มิได้ถือซึ่งวินัยของพระภูมีแล้วไซร้ กรรมก็จะกลับมา ทุกข์ก็มารุมเร้าอีก เพราะสิ่งที่เราทำยังไม่พ้นนั่นเอง
หลวงพ่อนิพนธ์มักกล่าวว่า ด้วยการมองด้วยตา ไม่ใช้ปัญญาพิจารณา การมาหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์ จึงเสียเปล่า เวลาที่มีก็น้อยอยู่แล้ว แต่กลับใช้เวลาไปในทางอื่น ไม่ใช้เพื่อกอบกู้ชีวิต
มาแล้วก็นั่งเฉย มาแล้วแทนที่จะทำวินัย จิตกลับจดจ้องกับของถูก ไม่ว่าผัก ไม่ว่าของตลาดนัด
ความตั้งใจเดิมที่เราท่านมาเพื่อช่วยตน ก็ถูกสิ่งต่างๆเหล่านี้ กลืนกินไป วันเวลาที่ควรอยู่ในเขตพัทธสีมา แล้วมีพฤติกรรมช่วยชีวิตตน ก็ถูกลืมเลือน กลายเป็นมีพฤติกรรมที่เห็นศาสนาต่ำ เห็นชีวิตของตนต่ำ ไม่สำคัญ ด้วยเหตุเพราะของที่ถูกกว่ากันไม่กี่บาทเท่านั้นเอง
บทสรุปหลวงพ่อนิพนธ์จึงกล่าวว่า แพ้ชนะอยู่ที่การลดนิสัย โรคไม่น่ากลัว นิสัยของเราท่านนี่สิน่ากลัว และที่สำคัญแก้ยาก
คำตอบที่เรามีให้แก่สมาชิกท่านนั้น ก็คือ คำที่หลวงพ่อนิพนธ์สอนว่า การเข้าพรรษา นั่นคือ การเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำเพื่อช่วยตน การวางสัจจะแล้วประคองสัจจะนั้นให้เป็นตน เมื่อตนของตนทำได้ ผลแห่งการทำสัจจะนั้นก็จะกลายเป็นบุญมาช่วยตนนั่นเอง
เมื่ออยู่ในพรรษา เราเรียนแล้วรู้แล้ว ผลเกิดแล้ว แต่พอออกพรรษา เราก็วางเสียไม่เอามาทำต่อ ผลก็คือ ต้นบุญของตนที่กำลังโตก็ขาดน้ำเลี้ยง เหี่ยวเฉารอตายนั่นเอง
เราจึงควรพิจารณานิสัยตนที่เป็นโทษใหญ่หลวง แล้ววางสัจจะ กับแม่ชีเมี้ยน พระพุทธเจ้า เพื่อควบคุมตน เป็นวินัยทุกข์ เสมือนอยู่ในพรรษาเล่า มิใช่ออกแล้วก็ออกเลย
หรือจะเอาวินัยกลางที่หลวงพ่อนิพนธ์กำหนด คือ "ไม่โกรธ และไม่เห็นผู้อื่นผิด" วันละสองชั่วโมง มาเป็นวินัยควบคุมตนก็ได้
ท้ายสุด หลวงพ่อนิพนธ์จึงได้กล่าวว่า คนดี ย่อมต้องปรารถนามรรคผลนิพพาน หรือ สวรรค์ ดังนั้น จึงต้องมีวินัยบางสิ่งบางอย่างของพระพุทธเจ้ามาควบคุมตน จึงจะไปในทางที่ปรารถนาได้ มิฉะนั้น นิสัยตนก็พาไปหากรรม
เรียนแล้ว รู้แล้ว ่เจอแล้ว แต่ไม่เอาไปทำช่วยตน สิ่งที่รู้ก็ไร้ค่า นักเรียนอย่างนี้ ไม่มีทางสอบผ่าน
นี่แล หลวงพ่อนิพนธ์จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า เพราะเราท่านมีเวลาให้ศาสนาน้อยเกินไป การช่วยตนจึงยังไม่พ้น ดังนั้น อนาคตที่จะมีการบวช คนที่จะเข้ามาบวชก็ต้องมีความตั้งใจ มีวันเวลา ทำตนให้พ้น มิใช่แค่ช่วงสั้นๆ มิฉะนั้น ผลแห่งการทำ ทำแล้วไม่พ้นกรรม สิ่งที่ทำก็สูญเปล่า