กาญจนบุรี – กระทรวงสาธารณสุข ยกทีมแพทย์ตรวจสอบสวนสมุนไพรชมรมคนรักสุขภาพ ดาราดัง “พิศาล อัครเศรณี” ร่วมทีมรอรับการตรวจสอบเก็บข้อมูลเพื่อเสนอให้ใบประกอบโรคศิลปะ หลังจากการที่ได้นำเสนอข่าวประชาชนแห่รับการรักษาที่สวนสมุนไพรชมรมสุขภาพ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
วันนี้ (7 ธ.ค.49) เวลา 06.00 น. ชาวบ้านจากทั่วสารทิศจำนวนกว่า 3,000 คนเดินทางไปที่ สวนสมุนไพรชมรมคนรักสุขภาพ บ้านสลัดได หมู่ 1 ต.หนองกุ่ม อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เพื่อรอรับบัตรคิวเพื่อรับยาจากการรักษาของหลวงพ่อฉลอง จากวัดเพชรสมุทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเจ้าหน้าที่ชมรมได้เริ่มแจกบัตรคิวตั้งแต่เวลา 07.00 น.
จากนั้นเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ชมรมเริ่มเรียกผู้ป่วยที่รับบัตรคิวตั้งแต่ลำดับที่ 1 ถึง 100 เข้ารับการแจกยาน้ำและนั่งดื่มโดยให้กล่าวคำสวดมนต์เพื่อรำลึกถึงพระรัตนตรัยและบุญคุณของเจ้าของสูตรยา คือ แม่ชีเมี้ยน และหลวงพ่อนิพนธ์ ต่อจากนั้นเข้ารับการหยอดยาที่ตาทั้งสองข้าง เวลา 10.30 น.จำนวนผู้รับบัตรคิวเริ่มมีจำนวนมากขึ้นรวมประมาณเกือบ 2,000 ราย
เวลา 11.00 น. นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ ผู้อำนวยการ รพ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรีได้เดินทางพร้อมคณะเข้ามาในสวนสมุนไพร โดยนายแพทย์สุวิทย์ ได้เดินถามชาวบ้านที่มารอการรักษาและยืนรอคณะขอเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาการ แพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขที่จะเดินทางมาสมทบ
นายแพทย์สุรวิทย์ เปิดเผยว่า ตนเคยเดินทางมาที่นี่แล้วครั้งหนึ่งและได้เข้าทำการรักษาตามขั้นตอนของสวน สมุนไพร โดยมาถึงรับบัตรคิวและจากนั้นรอการเรียกแล้วให้ดื่มยาน้ำสมุนไพร จากนั้นก็หยอดตาข้างซ้ายให้ 1 ครั้งเสร็จ ในครั้งนั้นตนได้เก็บตัวอย่างยาไปแล้ว
ต่อมาเวลา 11.10 น. นายพิศาล อัครเศรณี ดาราชื่อดังได้เดินทางมาที่บริเวณสวนสมุนไพรดังกล่าว โดยนายพิศาล เป็นที่ปรึกษาชมรมรักสุขภาพดังกล่าวด้วย โดยนายพิศาล ได้เดินเข้าไปที่บริเวณอาคารแรกที่แจกบัตรคิวแล้ว และได้ยืนสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ชมรม
เวลา 11.30 น. นายสุทน ภรบัณฑิตปัทมา นักวิชาการ 7 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาการ แพทย์แผนไทยจำนวน 10 คน เดินทางโดยรถตู้สีขาวจำนวน 2 คันมาที่สวนสมุนไพรและสมทบกับคณะของนายแพทย์สุรวิทย์
ต่อมาเวลา 11.50 น. นายแพทย์บุญนำ ชัยวิสุทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีพร้อมคณะได้เดินทางถึงที่สวนสมุนไพรเช่นกัน และได้สมทบกับคณะที่รอการเข้าตรวจสอบข้อมูลการเปิดรักษาโรคของสวนสมุนไพรดังกล่าว โดยคณะของกระทรวงสาธารณสุขได้เดินเข้าไปพบนายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานชมรมคนรักสุขภาพและนายพิศาลได้ให้การต้อนรับคณะของแพทย์ทั้งหมด จากนั้นนายประสิทธิ์ได้อธิบายคณะแพทย์เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการดำเนินการของสวนสมุนไพรฯ และได้พาคณะทั้งหมดดูกระบวนการปฏิบัติต่อผู้ที่มารับการรักษา
จากนั้นนายพิศาลได้พูดคุยกับกลุ่มผู้บริหารชมรมว่า ตอนนี้คงต้องหาเงินมาช่วยเหลือที่นี่อีก นายพิศาลกล่าวอย่างติดตลกว่า “ผมคงต้องปล้นแบงก์มาช่วยที่นี่”
หลังจากนั้น ผศ.อร่าม ศิริพันธิ์ ประธานที่ปรึกษาชมรมคนรักสุขภาพ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การที่ชมรมคนรักสุขภาพมาซื้อที่ดินเพื่อจะหาสมุนไพรและมีชาวบ้านที่สนใจเข้ามาช่วยพระสงฆ์ที่มาดำเนินการตรงนี้ หลังจากที่มาช่วยพระสงฆ์ปลูกยาเก็บยารักษายา พระสงฆ์ก็ช่วยดูแลเรื่องสุขภาพให้ จากปากต่อปากได้มีคนมาเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นบางหมู่บ้านมีคนมารักษาอัมพฤกษ์ 2 คน รักษาอยู่ไม่นาน จากเป็นมา 8 ปี 10 ปีมารักษาประมาณ 3 อาทิตย์ก็สามารถเดินได้ ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมากันจำนวนมากจากหมู่บ้าน หนึ่งสู่อีกหมู่บ้านหมู่หนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าทำมานานหรือยังและรักษาโรคอะไรบ้าง ผศ.อร่าม ตอบว่า มาตั้งไม่นาน ไม่กี่เดือน ไม่เรียกว่าเป็นการรักษา แต่เป็นฟื้นทั้งระบบ เราไม่เรียกว่าเป็นการรักษา เหมือนกับเราทานข้าวปลาอาหารเข้าไปเพื่อที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงเติบโต เมื่อเราเจ็บป่วยไข้ไม่สบาย ร่างกายต้องการของอย่างเดียวกันเช่นข้าว ปลาอาหาร แต่ร่างกายต้องการมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นยามเราเจ็บป่วยเราต้องการสารกระเทียมมากกว่าปกติมากเป็น100 เท่า เราต้องการสารพริกมากเป็น 100 เท่า เราต้องการสารสิ่งที่เราขาดไม่ได้เช่นไพรซึ่งเป็นสิ่งที่เราทานกันไม่ได้ แต่ว่าในสูตรของสมุนไพรก็จะเกิดการปรุงทำให้สามารถรับสารตัวนี้ได้ แล้วร่างกายก็นำไปผ่านระบบพลังงาน
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การเข้ารับการรักษาต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผศ.อร่ามตอบว่า ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าแล้วทางชมรมเอางบประมาณมาจากไหน ผศ.อร่ามตอบว่า บรรดาคนที่รักษาหายก็เข้ามาช่วยกันดูแล ส่วนใหญ่เป็นการดูแลในเรื่องเอาวัตถุดิบ เช่น มะพร้าว เอามะกูด เอากระเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสมุนไพรมาให้ โดยหลักแล้วเราไม่รับเป็นเงิน รับเป็นตัวสมุนไพรที่เป็นหลักจริงๆ ผู้ที่มารับการรักษาจะไม่เสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว เราใช้คำว่าเราช่วยฟื้นฟูภูมิ ไม่ใช้คำว่ารักษาโรค ตนสอนหนังสืออยู่ที่รัฐศาสตร์จุฬา
ด้าน นายสุทน ภรบัณฑิตปัทมา นักวิชาการ 7 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข ได้เปิดเผยการเข้ามาตรวจสอบว่า ประชาชนต้องการที่จะเข้ามาดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หรือแบบธรรมชาติที่เป็นแบบวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่แล้ว มันก็เป็นบทบาทเรา การทำในลักษณะนี้ที่เขาให้บริการอยู่ เราก็มาดูทั้งหมดอยู่ 4 เรื่องหลักๆ
ส่วนที่ 1. เราจะดูสภาพแวดล้อมบริบทของชุมชน โดยจะสัมภาษณ์ที่อยู่รอบบริเวณนี้ เขามีการยอมรับเป็นการรักษาแบบนี้มากน้อยแค่ไหน หรือการเป็นหมอในการรักษามากน้อยแค่ไหน
ส่วนที่ 2 จะดูตัวหมอว่าหมอคนนี้มีการรักษาอย่างมีคุณธรรมหรือมีจริยธรรมพอที่จะรับรอง สถานภาพการเป็นหมอพื้นบ้านที่จะดูแลสุขภาพของชาวบ้านได้หรือไม่ มันก็เป็นทางเลือกหนึ่ง
ส่วนที่ 3 ก็จะดูในส่วนของคนไข้ ในส่วนนี้จะดูตัวอย่างประมาณ 20 เคส เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่า มีข้อมูลบันทึกไว้จริง และผลการรักษาของเขาได้ผลดีในกระบวนการรักษา
ส่วนที่ 4 จริยธรรมคุณธรรมของหมอจะต้องไม่มีเก็บการรักษาและคนไข้จะต้องไม่เสียชีวิตหรือพิการจากการรักษานี้ อันเป็นจุดมุ่งหมาย ซึ่งถ้าเข้าแนวคิดนี้ของเราแล้ว ก็จะทำการเสนอต่อกองประกอบโรคศิลปะ เพื่อจะให้เขาได้ใบประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับงานการแพทย์ พื้นบ้านเพื่อจะเป็นการันตีการปลอดภัยให้กับเขาเพราะเคยมีเคสตัวอย่างแล้ว
คนที่บำเพ็ญประโยชน์ของสังคมในลักษณะนี้ถูกทางโรงพยาบาลฟ้องร้องหาว่าเป็น หมอเถื่อน ไม่มีสิทธิ์รักษา ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ อันนี้ถ้าเขาดีเราก็จะให้ประกอบโรคศิลปะเขา โดยหลังจากเราเก็บข้อมูลเหล่านี้แล้ว เราจะเอาข้อมูลเหล่านี้เสนอ จะมีกรรมการชุดหนึ่งจากกองประกอบโรคศิลปะจะลงพื้นที่มาสุ่มพิสูจน์ว่าข้อมูลที่เราให้ไปเป็นความจริงหรือไม่ จะมาสัมภาษณ์หมอ มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน มีคุณธรรมจริยธรรมตามกฎเกณฑ์ตามที่เราตั้งพรบ.ตามนี้หรือเปล่า
หลังจากคณะของกระทรวงสาธารณสุขใช้เวลาในการตรวจสอบที่สวนสมุนไพรชมรมคนรักสุขภาพนานกว่า 1 ชั่วโมง จึงเดินทางกลับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศแวดล้อมของชาวบ้านที่เห็นการเข้าพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ มาตรวจสอบสวนสมุนไพรฯในครั้งนี้รู้สึกพอใจและพร้อมที่จะให้ข้อมูลการรักษา ของสวนสมุนไพรฯ ว่าได้ผลในการรักษาอย่างไรอย่างเต็มใจ
มีรายงานข่าวว่า ชมรมคนรักสุขภาพจัดตั้งสวนสมุนไพรในครั้งนี้ได้ติดเอกสารประกาศมีวัตถุประสงค์ของชมรมคนรักสุขภาพว่า
1. เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกเพื่อฟื้นฟูสุขภาพด้วยการอบสมุนไพร ทานสมุนไพร
2. เพื่อให้สมาชิกเข้าใจแนวทางในการดูแลสุขภาพตามหลักธรรมชาติ รักษาธรรมชาติ
3. เพื่อให้สมาชิกของชมรมได้เกื้อกูลซึ่งกันและกันโดยไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไร และ
4. ไม่มีการเรียกเก็บเงินใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะเปิดรักษาโรคในวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ แค่ 2 วันเท่านั้น
มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการของชมรมคนรักสุขภาพมีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนที่ปรากฏชื่อเป็น ทั้งที่ปรึกษาและกรรมการชมรมดังกล่าว เช่น ศิลปินชื่อดังอย่าง พิศาล อัครเศรณี, ธานินทร์ อินทรเทพ, สุเทพ วงศ์คำแหง รวมถึงนายทหาร และนักวิชาการและนักธุรกิจร่วมอยู่ในทำเนียบที่ติดประกาศไว้ในบริเวณอาคาร อำนวยการของสวนสมุนไพรฯดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น