หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ให้เห็นหนทางในการฟื้นฟูตน ด้วยศาสตร์ของพระภูมีที่แม่ชีเมี้ยนนำมาว่า องค์ประกอบพื้นฐาน ๓ ประการ นั่นคือ
๑. การทานสมุนไพรให้ได้ปริมาณ และต่อเนื่อง เพื่อปรุงแต่งธาตุทั้งสี่ให้ได้สัดส่วน ใช้ฟื้นฟูอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย
๒.การทานอาหารให้ครบหมู่ โดยเฉพาะสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในการฟื้นฟูอวัยวะนั้นๆ ตามแต่ที่แต่ละคนเป็น รวมไปถึงการทานอาหารตุนเผื่อไว้ในอนาคต โดยเฉพาะพวกมะเร็ง
๓.เมื่อร่างกายพร้อมอวัยวะแข็งแกร่ง อาหารเสบียงพร้อม ร่างกายก็จักเริ่มสังคายนาตัวเอง นั่นคือเริ่มกระบวนการ คุ้ยโรคเพื่อไล่ออกจากร่างกาย ผลก็คือ เกิดสิ่งหนึ่งที่ยุคถ้ำกระบอกเรียกว่า อาการ "ลงแดง" อันเป็นอาการของโรค ที่พยายามสร้างให้เกิดความทุกข์ทรมาน แล้วส่งผลให้ผู้เป็น ทนไม่ได้ จนต้องหยุดการฟื้นฟู โรคก็จะอยู่ต่อไปได้นั่นเอง สิ่งนี้รวมไปถึงอาการเบื่ออาหาร ในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นเหตุที่วิทยากร อ.อร่าม มักพูดถึงเสมอว่า ควรจะทานอาหารตุนไว้ในขณะที่ยังทานได้ ตอนอดร่างกายจะยังคงมีกำลัง และต่อสู้ จนพ้นวิกฤตได้ ไม่ต้องห่วงอ้วน เพราะน้ำหนักจะลดลงบางทีนับสิบกิโลกรัมเลย หรือมากกว่า ก็มีให้เห็น หากไม่ทานเตรียม ยังไม่ทันตายด้วยโรคมะเร็ง ขาดสารอาหารตายก่อน
ปัจจัยที่สามคือการลงแดงนี้เอง หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ว่า เป็นสัญญาณของการหายโรค นั่นคือ ร่างกายสามารถรับรู้ และสร้างภูมิขึ้นมาสู้ได้แล้วนั่นเอง
ประเด็นก็คือ นานแค่ไหนกว่าจะถึงวันนั้น หลวงพ่อนิพนธ์มักชี้ให้เห็นว่า หากเราท่านรีบเร่ง ด้วยการปฏิบัติทุกวัน นั่นคือ การบวชมักจะไม่เกินหนึ่งปี ดังนั้น ในยุคที่ตั้งสำนัก คนไข้หนัก ที่พร้อมใจ ก็มักจะทำการบวช ๑ ปี เป็นอย่างน้อย ในการฟื้นฟูตน แลผลที่ปรากฎ ก็ดั่งคำของหลวงพ่อนิพนธ์ การใช้วิธีนี้ ให้ผลที่เฉียบขาด แน่นอน ไม่ว่าโรคอะไร ท่านชลอก็มักเล่าว่า มีทั้งมะเร็งสมองอย่างท่านตอง มีเอดส์แบบท่านเสรี มีโรคน้ำเหลืองเป็นพิษอย่างท่านโอ๋ มีโรคเส้นอย่างท่านอยู่ มีโปลิโอ มี... มากมาย ที่หายให้ท่านเห็นด้วยวิธีนี้ ส่วนการบวชหลังจากหนึ่งปีนั้น หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ว่า ปีแรกนั้นทำใช้ ปีต่อมา คือ ตอบแทนคุณศาสนา แลสะสมบุญไว้ในภายภาคหน้า
หากแต่วันนี้ สิ่งที่หลายคนใช้ นั่นคือ การมาสัปดาห์ละครั้ง นั่นหมายถึง การกระทำที่น้อยกว่า ผลที่จักบังเกิดย่อมล่าช้าเป็นธรรมดา หลวงพ่อนิพนธ์บอก เหมือนเดินอ้อมเขา ด้วยอยากเดินสบาย ก็ไม่ว่ากัน เรียกว่าทยอยใช้ น้อยหน่อย ก็นานหน่อยกว่าจะหมดหนี้
วันก่อนชายผู้หนึ่งเป็นเบาหวาน บอกว่ามาที่นี่สามปีแล้ว สองปีแรกไม่เกิดอาการอะไรเลย มาปีนี้ จึงเริ่มมีอาการคัน ดั่งที่ท่านอาสิและวิทยากรบอก ก็ทำใจ อดทนต่ออาการ และดีใจว่า ตนนั้นใกล้หายแล้ว
บทสรุป วันเวลาที่เนิ่นนาน ด้วยการเดินทางอ้อม จักมีสักกี่คนที่ยืนระยะได้ เพราะคนสมัยนี้ใจร้อน จะมาเอาแต่เร็วๆ รับยาก็เอาเร็วๆ ครั้นบอกเอาเร็วก็ไปเป็นผู้ปฏิบัติ ก็ทำไม่ได้ หลวงพ่อนิพนธ์ จึงชี้ให้พิจารณาว่า "ต่างคนต่างกรรม ต่างวาระ" นั่นคือ จะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้เลย ว่ากี่วันหาย จะมีอาการมากน้อยเพียงใด หากแต่ใครจะเลือกหนทางใด ก็ตามแต่ใจตน หากหวังผล ยืนระยะให้ได้ ทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะการเดินทางอ้อม เวลายิ่งนานยิ่งกัดกร่อน ปณิธาน น้อยคนจึงยืนหยัดไม่ถึง แค่ดีขึ้นก็ชะล่าใจ ทิ้งแล้ว โดยไม่รู้หรอกว่า หากงูที่ขว้างไปไม่พ้นคอ แว้งกลับมากัดตนได้ ครานี้มันจะกัดเต็มเขี้ยว ยากจะรอดได้ หลายคนจึงรู้ว่า เมื่อโรคหวนกลับคืนมา ทีนี้ สมุนไพรก็ยากจะกอบกู้ จะไปบวชปฏิบัติก็ทำไม่ได้
เรื่องของศาสนา เป็นเรื่องสมัครใจ ไม่บังคับใคร หากแต่หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ว่า ตีงูตีให้ตายในคราเดียว ทำไมไม่ยอมเสียน้อย ไปบวชปฏิบัติ ทำตนให้รอด เสียเวลาแค่ปีเดียว เสียไม่ได้ มาใช้ทางอ้อม เดินไปเดินมาก็อ่อนล้า ทิ้งเสียด้วยไม่เห็นปลายทาง บางทีเดินมาหลายปี กลับมาที่เก่าซะงั้น เสียมากกว่าเดิมเสียอีก
ภาพที่เห็นมาตลอดนับแต่ปี ๓๐ คือ "ไม่มีใครบวชแล้วตายด้วยโรค แต่เห็นคนตายด้วยโรคเพราะไม่บวช มากมายนับไม่ถ้วน"