หากแต่ใครมีญานมองไปข้างหน้าของตนได้ คนผู้นั้นอาจมองแล้วขนลุก ตาตั้ง
ทำไมหรือ เพราะเขาอาจเห็นว่า การกระทำของตนในทุกวันนี้ มันไม่เพียงพอที่จะช่วยตน แลเมื่อสภาพของตนเลวร้าย ก็ดั่งที่หลวงพ่อนิพนธ์และท่านอาสิชี้ หนทางเดียวที่เฉียบขาดและช่วยตนได้ นั่นคือ การบวช
ก็แล้วไง ก็วินัยหลักของศาสตร์พระภูมีที่แม่ชีเมี้ยนนำมา ข้อหนึ่งกล่าวว่า "ฉันมื้อเดียว" นั่นเอง
ทีนี้เป็นเรื่องยุ่งสำหรับบางคนเสียแล้ว เพราะต้องไปขอเขากิน หรืออาจจะหนักไปกว่านั้น หากต้องทำวัตรปฏิบัติในการฉัน มิเพียงแต่มื้อเดียว แต่ยังต้อง "เอกากังคัง" อันหมายถึง การคนอาหารที่รับมาให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงฉัน
หลวงพ่อนิพนธ์ มองสภาพการณ์นี้ออก จึงจัดให้มีโรงอาหาร แม้นรู้ดีว่า คนทำครัว อาจจะไม่มีฝีมือถึงกับเลอเลิศ มีจานเด็ดที่ทำให้ทุกคนชอบ หรืออยากทาน ก็เป็นแต่เพียงว่า ใครพอมีฝีมือ ก็มาช่วยกันทำ แล้วก็ชี้ให้เราท่าน ไปซื้อทาน
จึงไม่แปลก เสียงสะท้อนกลับมาย่อมเป็น อาหารไม่ถูกปากบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง หรือแม้นกระทั่งเลยไปถึง ราคาที่มองแล้วแพงเกินไป แลปากคน ทำให้หลายคน นำอาหารมาทานเอง
หลวงพ่อนิพนธ์กล่าวเสมอว่า การมีโรงอาหารมิใช่เพื่อหาความร่ำรวย บังคับมากิน เพราะถ้าอยากกินดีๆ ก็ไปหาทานในร้านที่ตนชอบ แต่การมามูลนิธิ จำเป็นต้องฝึก ต้องลองทานในสิ่งที่ตนไม่ชอบ หรือไม่ถูกใจ เป็นประการสำคัญ ส่วนผลพลอยได้ ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ให้โอกาสทุกคนมาร่วม มีส่วนในการดำเนินงานของมูลนิธินั่นเอง
สิ่งนี้สำคัญอย่างไร ก็สำคัญตรงที่ว่า หากวันหนึ่งในภายภาคหน้า เราท่านจำเป็นต้องอาศัยการบวช ต้องขอเขากิน จะได้ทำได้ไง หากจำเป็นต้องบวช จะปฏิบัติได้อย่างไร ในเมื่อทานไม่ได้ เพราะสิ่งที่ขอเขา เลือกไม่ได้
พระรุ่นก่อนๆที่ผ่านการธุดงค์ ย่อมจะมีเรื่องเล่าขานสู่กันฟังอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะการทานนี่แลสำคัญนัก อาทิเช่น บางองค์ไปบิณฑบาต ในพื้นที่ของหมู่คนอีสาน บาตรวันนั้น มีแต่ข้าวเหนียวกับปลาร้า แถมไม่มีอย่างอื่นให้เลือกอีก เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีคนน้อย จะทำอย่างไร ถ้าฉันไม่ได้
ตัวเราเองก็เคยมาแล้ว แลก็ทานปลาร้าเป็นตอนเป็นพระนี่แหละ
บทสรุป การใดที่หลวงพ่อนิพนธ์ให้ทำในมูลนิธิ ย่อมไม่ใช่คิดด้วยความโลภ หรืออยากได้ หากแต่อยู่บนพื้นฐาน ที่ให้ทำเพื่อฝึกฝนเบื้องต้น ตามวินัยของศาสนา เป็นบางสิ่งบางอย่าง ใครที่ฟัง แล้วทำตาม ย่อมจะเป็นพื้นฐานที่ดีในวันข้างหน้า หากจำเป็นต้องพึ่งการบวชเพื่อช่วยตน จะได้ไม่ทุกข์กับวินัยจนเกินไป
ตัวอย่างล่าสุดก็มีให้เห็น พระหนุ่มร่างกายกำยำ เป็นโรคภูมิแพ้ แล้วลองไปบวช เจอฉันมื้อเดียว ถอดจีวรแทบไม่ทัน รับไม่ได้
ดูไม่มีอะไร ไม่จำเป็นต้องทำ แต่อาจทำให้การช่วยตน พังทลายไปตั้งแต่เริ่ม ก็เป็นได้ เช่นพระรูปนี้
ก็แล้วทำไมไม่ลองทำ ดั่งที่หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ ก็แค่วันเดียว ในรอบสัปดาห์ที่มา ทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบ ทานอาหารของมูลนิธิ เงินที่เสียไป ก็ใช้ในกิจการของมูลนิธิ สิ่งที่ได้กลับคืนมา คือ นิสัย ที่ต้องทำใจในอาหารที่ตนทาน ฤาจะรอจนถึงวันนั้น กว่าจะรู้ว่าไม่ได้ มานั่งเสียใจ เห็นทางรอดอยู่แต่ไปไม่ได้ น่าเสียดายนัก
ใครจะว่าบังคับซื้อ หรือ ทำเพื่อเงินก็ว่ากันไป แต่ความเป็นจริง เงินจากการขายอาหารและของกิน น้ำดื่ม เทียบกับรายจ่ายต่อเดือนแล้ว น้อยกว่าน้อยนัก