อะไรเล่าทำให้หลักของพระภูมี ถูกเรียกว่าหลักปราชญ์ แม้นแต่อัจฉริยะของโลกเช่นไอสไตน์ ยังยอมรับว่าเป็นหลักเดียวที่อยู่เหนือหลักวิทยาศาสตร์ และตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ได้ทั้งหมด นั่นก็คือ ความเป็นหลักแห่งเหตุและผล
หลวงพ่อนิพนธ์จึงมักสอนว่า ด้วยความที่ปัญญาของเราท่านยังด้อย หรือความไม่รอบรู้อย่างถ้วนถี่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาเพียงแต่เหตุ จึงยังสรุปผลไม่ได้
ขยายความให้ฟังก็คือ โสตสัมผัสของเรา ยังเชื่อถือไม่ได้ ด้วยยังหามาตรฐานไม่ได้ ตัดสินเอนเอียงไปตามนิสัยสันดาน ความนึกคืด ความชอบของตน
อุปมาที่มักถูกหยิบยกมาให้ฟังเสมอๆ อันได้แก่ การกระทำที่เหมือนกันของต่างบุคคล เมื่อบุคคลแรกกระทำแล้วได้ผลดี คนที่ทำตามก็อุปมาเอาทันทีทันใดว่า ผลย่อมต้องเกิดเหมือนเช่นดั่งคนแรกที่ทำ จะเป็นอื่นไม่ได้
หากแต่ความเป็นจริง เรื่องราวสรรพสิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของชีวิต นั้น เป็นเรื่องต่างกรรม ต่างวาระ จะเอาเหมือนกันไม่ได้ หรือจะเอาเป็นบรรทัดฐานที่เหมือนกันทุกผู้นามไม่ได้เลย
หลวงพ่อนิพนธ์ จึงอรรถาธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า อาทิเช่นเราท่านมีน้ำอยู่แก้วหนึ่ง แล้วนำไปให้คน ... น้ำแก้วเดียวกันนั้น อาจมีค่ามหาศาล หากถูกนำไปให้คนที่รอนแรมในทะเลทราย ขาดน้ำมาเป็นเวลานาน น้ำแก้วนั้นมีคุณค่าถึงชีวิตมนุษย์ อันประเมินค่าไม่ได้ เพราะทำให้ชีวิตหนึ่งรอดตาย หากแต่น้ำแก้วเดียวกันนั้น ถูกนำไปวางให้พระ ในวงฉันภัตตาหาร แม้นผู้ทานจะเป็นพระ หากแต่เมื่อมองไป จะเห็นน้ำปานะอื่นๆวางกันเกลื่อน เหลือทาน เหลือทิ้งเป็นอันมาก น้ำแก้วนั้น จึงอาจหาคุณค่าแม้นแต่สักนิดไม่ได้เลย แลอาจถูกเมิน เททิ้งไปโดยไร้ค่า ไร้ประโยชน์ก็เห็นกันมากมาย
คำตรัสของแม่ชีเมี้ยนในวันงานรำลึกคุณ ที่เราอยากจะย้อนให้ฟัง ที่กล่าวว่า การกระทำของมนุษย์ที่มี ไม่มีความหมายแก่วิญญาณเลย เมื่อมาพบศาสนา ศาสนาจึงสอน เมื่อทำตาม การกระทำนั้น ก็จักมีความหมายแก่วิญญาณแลชีวิต ... ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ทำ เรียกตัวกระทำ นั้นไม่ตายเลย เป็นสมบัติติดวิญญาณ ไปยังภพหน้าได้อีกด้วย
แม่ชีเมี้ยนจึงเปรียบให้ฟังว่า การกระทำของเราท่าน ในปัจจุบัน อุปมาเหมือน ทำแล้วมีแต่เพื่อนกาย แต่หาเพื่อนใจ ติดวิญญาณไปไม่มีเลย ...
เมื่อไม่มีเพื่อนใจ วันใดที่กรรมมาอุบัติ เพื่อนกายเหล่านั้นช่วยไม่ได้ หลวงพ่อนิพนธ์บอกว่า นั่นแล จักรู้ความจริงว่า วิญญาณของเราท่านนั้นโดดเดี่ยว ยามเจ็บ เจ็บคนเดียว ยามทุกข์ก็ทุกข์คนเดียว ใครช่วยไม่ได้เลย
แม่ชีเมี้ยน จึงให้มาชวนเราท่าน หาเพื่อนของวิญญาณ เอานิสัยพระพุทธเจ้ามานำตน เมื่อทำได้ ก็จะได้ความไม่มีโรค ติดวิญญาณไปยังภพหน้า ทุกภพ ทุกชาติ
การกระทำที่พระภูมีสอน จึงหาใช่หวังผลแต่เพียงชาตินี้ หากแต่ตราบใดที่ยังเวียนว่าย ผลแห่งการกระทำ ก็จักติดวิญญาณไปตลอด
ย้อนกลับมายังการกระทำ เรื่องที่ถูกหยิบยกมาให้ฟัง นั่นคือ แม่ของพระสองคน คนหนึ่งมีลูกชายคนเดียว อีกคนหนึ่งมีลูกชายเจ็ดคน แม่ทั้งสองป่วยหนัก จึงให้ลูกของตนบวช
เวลาผ่านไป แม่ของลูกชายคนเดียวดีวันดีคืน แต่แม่ของลูกชายเจ็ดคน กลับไม่ดีขึ้นเลย จึงถามแม่ชีเมี้ยนว่า เพราะเหตุใดตนจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่มี่ลูกชายบวชถึงเจ็ดคน ในขณะที่อีกคนมีแค่คนเดียว
แม่ชีเมี้ยนตรัสตอบว่า ก็คนเดียว เขาทำ แต่ลูกทั้งเจ็ดแม้นจะบวชเหมือนกัน แต่ไม่ทำวินัยของพระภูมี ... ผลจึงเป็นเช่นนี้
บทสรุปที่หลวงพ่อนิพนธ์มักเตือนสติเราท่าน นั่นคือ การเน้นการกระทำ มิใช่เพียงอ้างเหตุแห่งการกระทำ แล้วโมเมว่าผลต้องเกิด ไม่ดูรายละเอียดเลยว่า สิ่งที่กระทำนั้น เกิดผลอย่างไร
แลสอนวิธีการดูผลแห่งการกระทำของตนไว้ว่า ก็พิจารณาสังขารของตนนั้นแล หากเหตุแห่งการกระทำนั้นทำถูก ผลถูกก็จักเกิดแก่ตน หากเหตุที่ทำนั้นผิด ผลผิดก็จักเกิดแก่ตนเช่นกัน
ที่เห็นพระของพระพุทธเจ้านั่งหลับตา ไม่ใช่นั่งแล้วเห็นนั่น เห็นโน่น หลวงพ่อนิพนธ์เล่าว่า แม่ชีเมี้ยนตรัสสอน หลับตาก็เห็นแต่ความมืด หากเห็นนั่นเห็นโน่น ก็บ้าแล้ว ที่นั่งแบบนี้ ให้พิจารณาตัวกระทำที่ทำมา แลผลแห่งการกระทำ ผลถูกมาจากไหน ผลผิดมาจากไหน จะได้ปรับปรุงแก้ไข .. ไม่ได้นั่งให้เห็นภาพอะไร
ก็มาเหมือนกัน ทานสมุนไพรเหมือนกัน ... ผลจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ... ผู้ที่มาแล้วทานแล้ว ทำไมล่าช้า เข้าห้องสวดมนต์ ลองนั่งพิจารณาเอาเถิด ตัวกระทำของเราเป็นฉันใด กิริยาของเรา ลดลงไหม พฤติกรรมของเรา เปลี่ยนไปบ้างตามคำสอนของพระภูมี มีหรือเปล่า ... นั่นแลคำตอบ ที่บอกกับตัวเองว่า สุดท้ายสิ่งที่ทำ ผลจะเป็นอย่างไร ช่วยตนของตนได้ไหม