คำกล่าวที่ได้ยินได้ฟัง แทบทุกครั้งที่หลวงพ่อนิพนธ์มักชี้นำให้คนป่วย อุทิศเวลามาทำกิจกรรม และเดินตามรอยศาสนา ที่ฟังจนชินคือ ไม่มีเวลา มีความจำเป็น ต้องรับผิดชอบโน่นนี่นั่น ....
หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อกรรมที่ทำมา ดลบันดาลให้เกิดทุกข์ นั่นก็หมายความถึง ต้องสูญเสีย
หากแต่มนุษย์ปฏิเสธทุกข์ ปฏิเสธกรรม คิดเข้าข้างตัวเอง เราท่านจึงเห็นการกระทำที่จะไม่ยอมสูญเสียใดๆเลย แถมยังคิดจะเอาแต่ได้อีกต่างหาก
จึงไม่ต้องแปลกใจเลย คนมาหาศาสนา ก็หวังจะมาเอาสมุนไพร ไปทำให้ตนหายโรค แล้วก็ไปทำตามความอยากของตนต่อ หรือไม่ก็มาขอ ให้ความประสงค์ของตนสำเร็จ ค้าขายร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ไม่เจ็บไม่ไข้ ตราบชั่วชีวิต
ศาสนา แม้นมีบุญญาธิการ มีเมตตาอันมหาศาล แต่ก็ไม่ก้าวล่วงอำนาจกรรม จึงไม่เคยมีผู้ใดสมหวัง ด้วยการขอเช่นนั้นแม้นแต่สักรายเดียว
หลวงพ่อนิพนธ์จึงยกคำสอนของแม่ชีเมี้ยนให้ฟังว่า "ศาสนา คือ เราทำ" อยากได้ ต้องเรียนรู้ พิจารณา แล้วไปทำ ทำแค่ไหน ได้แค่นั้น
หลายคนดีดลูกคิด พิจารณากิจการของตนเอง อย่างละเอียดรอบคอบ ทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ยอมให้ผิดพลาด นั่นหมายถึง จะกระทำสิ่งใด ย่อมหวังผลเลิศ กำไรงาม คำถามก็คือ แล้วเรื่องของชีวิตเล่า
หากเราท่านมีปัญหาของชีวิต กรรมมาเป็นโรครุมเร้าแล้ว กลับคิดหยาบๆ ทานสมุนไพร แล้วหาย ... หากเป็นเช่นนั้น จะเรียกว่ากรรมมีอำนาจได้อย่างไร
หลวงพ่อนิพนธ์จึงมักชี้หนทาง ให้แก่คนป่วยในยุคปี ๓๐ ที่เปิดสำนักมนต์บาลี ที่ลพบุรี อันเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแม่ชีเมี้ยนในวันนี้ ว่า ทำไมไม่หยุดทางโลกไว้สักขณะ แล้วมากอบกู้ชีวิตของตนให้ดีขึ้นก่อน เพื่อที่ชีวิตที่เหลือ จะได้ไม่เลวร้าย
ตัวอย่างที่เราเห็น เด็กหนุ่มวัยเรียนคนหนึ่ง ป่วยด้วยโรคน้ำเหลืองเป็นพิษ ร่างกายเป็นแผลพุพอง คล้ายคนเป็นฝีดาษ แผลนั้นก็ยากจะหาย หลวงพ่อนิพนธ์จึงบอกพ่อแม่เด็กว่า หยุดเรียนไปก่อน มาบวชสักระยะ ปีนึง เพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ยอมเสียน้อย เวลาปีเดียว แลกกับชีวิตที่เหลืออีกหลายสิบปี ไม่ดีกว่าหรือ
พ่อแม่ของเด็ก ก็ตกลงปลงใจ เด็กหนุ่มนั้นก็ได้บวชในหลักธรรมโลกุตระของแม่ชีเมี้ยน จากเดิมที่ตั้งไว้ แค่ปีเดียว เขากลับบวชต่อ เพื่อแทนคุณศาสนาในการฟื้นฟูตนของเขา จนครบสามปี
เด็กหนุ่มคนนั้น ก็กลับออกไปเรียนหนังสือ และกลายเป็นผู้จัดการแบงค์ อยู่อย่างมีความสุข ร่างกายแข็งแรง จนทุกวันนี้ ผ่านมากว่ายี่สิบปีแล้ว ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลอีกเลย
บทสรุป หลวงพ่อนิพนธ์ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ จับปลาหลายมือ ทางโลกก็จักรักษาไว้ ชีวิตก็จะเอา ท้ายที่สุด อาจจะไม่ได้ปลาเลยสักตัว ก็เห็นมามากมาย
คำถามที่หลวงพ่อนิพนธ์มักให้คิด ... "อะไรมีค่าที่สุด" ... ก็ชีวิต แลสุขภาพ มิใช่หรือ มีชีวิต มีสุขภาพดี อยากจะไปทำอะไรก็ได้ ทำแล้วก็เป็นสุข ... แล้วทำไม ไม่ทุ่มเทให้ชีวิต และสุขภาพก่อน ยอมเสียซะบ้างเถอะ .... แล้วจะรู้ว่ามันแสนคุ้ม ดีกว่าไม่ยอมเสียอะไรเลย ท้ายที่สุด กลับต้องเสียทุกอย่าง รวมทั้งชีวิต