สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกมี ความเป็นมาอย่างยาวนาน และมีเรื่องเล่าขานไม่รู้จบ แต่ปฐมบทแห่งบทโศลกแห่งชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2497 พระสงฆ์ 7 รูปจากวัดคลองเม่าธรรมโกศล จ.ลพบุรี ธุดงค์ผ่านมาพบชาวบ้านกำลังเก็บขี้ค้างคาวอยู่บนถ้ำกระบอก เกิดพลาดท่าหินหล่นทับชาวบ้านคนหนึ่งจึงตรงเข้าช่วยเหลือ ระหว่างนี้เอง พระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ (โสรัจกัสสปะ) และ พระอาจารย์เจริญ ปานจันทร์ ที่อยากจะให้พระสงฆ์อยู่ร่วมกับสังคม ช่วยพัฒนาสังคม จึงผุดขึ้นในใจของพระทั้ง 2 รูป หลังจากไตร่ตรองอยู่นาน ประกอบกับทำเลของเทือกเขาโปร่งปราบเหมาะต่อการอยู่ใกล้ชิดกับสังคม สามปีต่อมา อุบาสิกาเมี้ยน ปานจันทร์ จึงเริ่มดำเนินการ เมื่อเสียชีวิตลง พระอาจารย์จำรูญ ซึ่งเป็นหลานจึงเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจสืบต่อมา
ต่อมาปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังให้หมดไปจากราชอาณาจักร มีการจับกุมคุมขังและลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจัง ขัดแย้งกับความเห็นของพระอาจารย์จำรูญ ที่มองว่าการปราบปรามไม่สามารถกำจัดสิ่งเสพติดให้หมดไปได้ การลดละเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องมาจากจิตใต้สำนึกของคนเป็นสำคัญ แม้จะใช้กำลังบังคับขู่เข็ญแค่ไหนก็ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ พระอาจารย์จำรูญจึงฝากข้อความไปถึงจอมพลสฤษดิ์ว่า "ปืนนั้นสู้บาตรไม่ได้หรอก จะเอาปืนไปปราบยาเสพติดก็ไม่ได้เช่นกัน" เมื่อข้อความถูกส่งไปถึงจอมพลสฤษดิ์ สำนักสงฆ์แห่งนี้จึงกลายเป็นสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดไปในทันใด โดย พล.อ.อ.ทวี จุลทรัพย์ ได้ซื้อที่ดิน 32 ไร่เศษถวาย เพื่อจัดสร้างสถานบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยตั้งเงื่อนไขว่าผู้เข้ารักษาจะต้องเข้ารับสัจจะ ไม่สูบ ไม่เสพยาทุกชนิดโดยสมัครใจ และต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่ำ 15 วัน ไม่ก่อความวุ่นวายใดๆ ในสถานที่บำบัด และไม่อ้างสิทธิหรือความจำเป็นออกนอกบริเวณสถานบำบัด
การรักษาจะเริ่มด้วยการช่วยเหลือทางกาย โดย 5 วันแรกจะได้รับการบำบัดด้วยการดื่มยาสมุนไพร กลายเป็นที่มาของภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เมื่อคนไข้ดื่มยาสมุนไพรแล้วดื่มน้ำตามเยอะๆ จนอาเจียนออกมาหมดไส้หมดพุง หลังจากนั้นจะถูกส่งไปห้องอบตัวสมุนไพร ประกอบด้วย ตะไคร้ ใบละหุ่ง หญ้าคา ผักบุ้ง ช่วยลดความตึงเครียดของประสาท และขับพิษออกจากร่างกาย อีก 10 วันหลังคนไข้จะได้รับการรักษาทางจิตใจ พักฟื้น ปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ ด้วยวิธีการฟังธรรม กิจกรรมสันทนาการ ฝึกอาชีพ เป็นต้น
พระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ จึงได้รับรางวัลแมกไซไซ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2518 จนกลายเป็นฉายาเรียกขานพระอาจารย์จำรูญว่า "หลวงพ่อแมกไซไซ
ปี 2525 มีการระบาดของผงขาวและเฮโรอีนไปทั่วโลก แพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถบำบัดผู้ป่วยเหล่านี้ให้หายขาดได้ แพทย์ทางเลือกอย่างสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกจึงถูกจับตามองมากขึ้น หน่วยงาน "ฮีส เวส ดีทอค" (East-West Detox) ของอังกฤษ ให้การยอมรับว่าการบำบัดรักษาของถ้ำกระบอกสามารถ ทำให้ผู้ติดยาเสพติดหายขาดได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันถ้ำกระบอกผ่านหนาวผ่านร้อนมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ แม้สังคมไทยจะมีโครงการวิวัฒน์พลเมืองขึ้นมาช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จนชื่อสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมและผู้คนรอบข้าง
น่าเลื่อมใสค่ะ
ตอบลบ